วันที่ 8 มีนาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เปิดโครงการ “กระทรวงแรงงานพบประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ” สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กลุ่มนักเรียนอาชีวะ พร้อมมอบใบอนุญาตศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้แก่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษณ์ สาขา พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ระดับ 1 โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุรศักดิ์ พันเจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชัยยงค์ เมธาสุรวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ ต.จานใหญ่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาพบปะกับทุกท่านที่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ในวันนี้ โดยเฉพาะน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษา และพ่อแม่ผู้ปกครอง กระทรวงแรงงานที่ผมรับผิดชอบดูแลนี้เราทำงานต่อเนื่องเชื่อมโยงกับกระทรวงศึกษาธิการเหมือนต้นน้ำกับปลายน้ำโดยกระทรวงศึกษาธิการผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะ ส่วนกระทรวงแรงงานจะต่อยอดทักษะ จัดหาอาชีพตามความต้องการของตลาดแรงงาน และดูแลสวัสดิการให้กับแรงงาน กระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในการผลิตกำลังคนในภาคการศึกษาและภาคแรงงาน หรือ Up - Skill for More Earn เพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ และพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกำลังแรงงานรุ่นใหม่ อย่างเช่นการเรียนอาชีวศึกษา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนตลาดแรงงานที่สำคัญ เพราะความรู้และทักษะที่น้อง ๆ ได้รับนั้นสามารถนำไปใช้งานได้จริง ช่วยสร้างบุคลากรเฉพาะทางในสายอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ ไม่ว่าจะเป็นช่างเชื่อม ช่างยนต์ ช่างก่อสร้าง บัญชี การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ หรือหากยกระดับต่อไปได้ก็สามารถก้าวไปสู่อาชีพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve เช่น หุ่นยนต์ ดิจิทัล หรือโลจิสติกส์ เป็นต้น
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานกับกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกันทำงานจนเกิดความสำเร็จ เช่น การส่งเสริมการเรียนอาชีวศึกษาแบบทวิภาคีให้สถานประกอบการได้ร่วมออกแบบหลักสูตรและสนับสนุนการเรียนการสอนแบบลงมือทำจริง รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น สำหรับน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษาที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตนั้น หากต้องการฝึกทักษะอาชีพ กระทรวงแรงงานมีหลักสูตรฝึกอบรมที่เรียนจบแล้วมีประกาศนียบัตรรับรอง ตัวอย่างหลักสูตรฝึกอาชีพที่ตลาดต้องการอย่างมากในขณะนี้ก็คือ การบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งที่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์แห่งนี้ก็มีสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรมอยู่ด้วย โดยผมได้ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อมาฝึกอบรมในด้านนี้ให้ได้ 100,000 ราย และป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น พนักงานแคชเชียร์ พนักงานต้อนรับ และเชฟ รวมทั้งยังมีหลักสูตรอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งน้อง ๆ สามารถจะต่อยอดความรู้และทักษะที่ได้รับจากวิทยาลัยเทคนิคนี้ในระดับที่สูงขึ้นได้
“ส่วนใครที่ต้องการฝึกงานในต่างประเทศ กระทรวงแรงงานมีโครงการความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นผ่านองค์กร IM Japan ให้ไปฝึกงาน เช่น งานหล่อแบบ งานกลึงและเชื่อมโลหะ งานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ งานแปรรูปอาหาร งานก่อสร้างโครงเหล็ก งานเดินท่อ ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกก็จะได้รับเบี้ยเลี้ยง ค่าจ้าง ค่าอาหารและที่พัก เมื่อฝึกงานจบแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง ทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากทักษะอาชีพหรือว่า Hard Skills แล้ว เราต้องพัฒนาทักษะ Soft Skills เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความพร้อมด้านภาษาและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้เราได้เปรียบคนอื่น และทำให้นายจ้างมั่นใจที่จะจ้างงานเรามากขึ้น” นายพิพัฒน์ กล่าว
จากนั้น นายพิพัฒน์ฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมบูธกิจกรรมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตามโครงการกระทรวงแรงงานพบประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ อาทิ กิจกรรมนัดพบแรงงาน ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครงานและสัมภาษณ์โดยตรงจากสถานประกอบการชั้นนำ มีตำแหน่งงานว่างมากกว่า 500 อัตรา อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด บริษัท สยามโกลบอลเฮาส์ จำกัด (สาขาศรีสะเกษ) บริษัท ชนะชัย ขาเข้าขาออก จำกัด บริษัท โมเดิร์น เอ สตีล จำกัด (สาขากันทรลักษ์) และบริษัท เอี่ยมศิริแป้งมัน จำกัด การแนะแนวอาชีพ การสาธิตอาชีพอิสระ หลักสูตรหมอพราหมณ์ พิธีผูกข้อต่อแขนเพื่อความสิริมงคล นิทรรศการความปลอดภัยในการทำงาน โดย บริษัท เอี่ยมศิริแป้งมัน จำกัด การรับสมัครผู้ประกันตนรับชำระเงินสมทบประกันสังคมตามมาตรา 40 และการให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 จากสำนักงานประกันสังคม และกิจกรรมทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 3 สาขา ได้แก่ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างไฟฟ้า พนักงานบริการอาหารเครื่องดื่ม จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ ยังได้ มอบใบอนุญาตศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขา พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ระดับ 1 ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น