ผู้สื่อข่าวรายงานจาก กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. และคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับสูงในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs : CND) สมัยที่ 67 โดยมี นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ประกาศเจตนารมณ์ไทย “ชูผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ควบคู่การปราบปรามยึดทรัพย์นักค้าอย่างเด็ดขาด พร้อมพบรัฐมนตรีสิงคโปร์ หารือการจัดการปัญหายาเสพติดร่วมกันในระดับอาเซียน
โดยในวันแรกคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม และได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับสูงฯ ในการนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ ประกาศการเน้นย้ำถึงนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยยึดหลักการสากล “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง และใช้หลักมนุษยธรรมควบคู่ไปกับการใช้กฎหมายปราบปรามยาเสพติดที่เด็ดขาด นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ พร้อมประกาศคำมั่นในนามของประเทศไทยว่า “จะเพิ่มความเข้มข้นในความพยายามสกัดกั้นตามแนวชายแดนเพื่อหยุดยั้งการลักลอบค้ายาเสพติดและสารเคมี และเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับเพื่อจัดการกับความท้าทายในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และจะใช้มาตรการการป้องกันและบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามหลักสิทธิมนุษยชน”
ทั้งนี้ ถ้อยแถลงระดับรัฐมนตรี โดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในระเบียบวาระที่ 3 การอภิปรายทั่วไป (General Debate) การประชุมระดับสูงของการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs: CND) สมัยที่ 67 มีเนื้อหาดังนี้
ผมขอแสดงความขอบคุณ ท่านเอกอัครราชทูตฟิลเบิร์ต จอห์นสัน แห่งกานา ประธาน CND สมัยที่ 67 ที่ได้เป็นประธานการประชุมในครั้งนี้
ในนามของรัฐบาลไทย กระผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงในวันนี้
ประเทศไทยมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายพื้นฐานตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศทั้งสามฉบับ ตามปฏิญญารัฐมนตรี ค.ศ. 2019 และเอกสารผลลัพธ์การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (United Nations General Assembly Special Session: UNGASS 2016) เพื่อให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว ประเทศไทยได้ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในห้วงไม่นานมานี้ หรือประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ เมื่อปลายปี 2564 ให้เป็นไปตามแนวทางหลักสาธารณสุขนำ เพื่อจัดการกับสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศได้ดียิ่งขึ้น
รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะทำงานร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย โดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อเพิ่มจำนวนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพให้กลับเข้าสู่สังคมและพัฒนาความสามารถให้เข้าสู่ภาคแรงงาน ส่วนผู้ผลิตและผู้ค้า คือผู้ที่ต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม โดยใช้มาตรการปราบปรามทางกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงการ “ยึดทรัพย์” เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด พร้อมดำเนินการเจรจาทางการทูตกับประเทศตามแนวชายแดน เพื่อควบคุมการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทย และดึงประชาชนออกจากวงจรการค้ายาเสพติดอย่างถาวร นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจะดำเนินตามแนวทางที่อิงหลักฐานวิชาการ เพื่อสามารถใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ เฉพาะทางการแพทย์ การรักษาและการวิจัยเท่านั้น โดยยืนยันว่าจะมีมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องขึ้นมาเพื่อป้องกันการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางสันทนาการ
ในระดับภูมิภาค ประเทศไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันในการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย ร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น
อีก 5 ประเทศ ความร่วมมือภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค พ.ศ. 2536 (บันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่ายฯ) ร่วมกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) รวมถึงความร่วมมือภายใต้ศูนย์ความร่วมมือด้านยาเสพติดอาเซียน (ASEAN Narcotics Cooperation Center: ASEAN-NARCO) เพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและ
ในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น กระผมขอแสดงความชื่นชมบทบาทของ UNODC อย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนแผนและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ด้วยประเทศไทยตระหนักถึงความสลับซับซ้อนและความรุนแรงของปัญหายาเสพติดที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้น จึงจะพิจารณาการให้การสนับสนุนแก่ UNODC เพิ่มมากขึ้นด้วยในอนาคตอันใกล้ด้วยความสำเร็จอันโดดเด่นของเรา ประเทศไทยได้เน้นย้ำมายาวนานถึงความสำคัญของแนวทางที่ใช้การพัฒนานำ ในนโยบายยาเสพติด โดยส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก (United Nations Guiding Principles on Alternative Development) เพื่อจัดการการลักลอบปลูกพืชที่ผิดกฎหมาย รวมถึง ความพยายามระดับโลกเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
สุดท้ายนี้ ด้วยความตั้งใจที่จะส่งเสริมการดำเนินการตามพันธกรณีดังกล่าวทุกประการ และการจัดการกับความท้าทายประการที่ 2 (ว่าด้วยการใช้ในทางที่ผิด การลักลอบปลูก ผลิต และค้ายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท รวมถึงความต้องการและการรั่วไหลของสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์) และความท้าทายประการที่ 7 (ว่าด้วยการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและบริการด้านสุขภาพยังไม่เพียงพอ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเสพติดเพิ่มสูงขึ้น) กระผมขอให้คำมั่นในนามของประเทศไทย ว่า จะลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดภายในประเทศให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 1 ปี
1.) โดยการส่งเสริมให้ผู้ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีอาการจิตเวช ได้เข้าถึงบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูอย่างเหมาะสม และ 2.) จะเพิ่มความเข้มข้นในความพยายามสกัดกั้นตามแนวชายแดน เพื่อหยุดยั้งการลักลอบค้ายาเสพติดและสารเคมี และเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับเพื่อจัดการกับความท้าทายในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และสร้างสังคมที่ปลอดภัยและมั่นคงอย่างยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ต่อมา เวลาประมาณ 10.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น กรุงเวียนนา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะฯ ได้เข้าหารือทวิภาคีกับ นางโจเซฟีน เตียว (Mrs Josephine Teo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสาระสนเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนที่สอง (Minister for Communications and Information & Second Minister for Home Affairs) ของสิงคโปร์ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทัศนะในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และยืนยันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้แสดงความยินดีกับสิงคโปร์ที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs: CND) และกล่าวถึงความร่วมมือในอนาคตเกี่ยวกับการรวบรวมงานวิจัยด้านการระบาดและอันตรายจากยาเสพติดจากทั่วโลก โดยขณะนี้ประเทศไทยสนใจการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาที่ใช้ทดแทนยาบ้า
ทั้งนี้ การประชุมระดับสูงในห้วงการประชุม CND สมัยที่ 67 จัดขึ้นจนถึงวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย จากนั้นจะเป็นการประชุมสมัยสามัญระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสซึ่งจัดขึ้นในสัปดาห์หน้า (18 – 22 มีนาคม)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น