วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำประเทศไทยจับมือกับ 5 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงหารือกับ UNODC เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

​(วันที่ 15 มีนาคม 2567) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคณะผู้แทนไทย เข้าพบคุณ ฆอห์ดะ วาลี (Ghada Waly) ผู้อำนวยการบริหาร UNODC พร้อมด้วยหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค (กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่ายฯ) ได้แก่ จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้เน้นย้ำถึงปัญหาที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตและลักลอบค้ายาเสพติดสังเคราะห์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบันทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความสะดวกในการคมนาคมขนส่งทำให้กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติสามารถเข้าถึงสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ไม่ได้ถูกควบคุมได้ง่าย นำไปสู่การเพิ่มกำลังผลิตยาเสพติดได้จำนวนมากภายในระยะเวลาสั้น รวมถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำผ่านความร่วมมือภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่ายฯ 
ในส่วนประเทศไทย รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยได้เริ่มปฏิบัติการ Quick Win ส่งเสริมให้ผู้ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาการจิตเวชได้เข้าถึงบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูอย่างเหมาะสม รวมถึงการกำหนดพื้นที่ควบคุมพิเศษบริเวณชายแดนทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน พร้อมทั้งจับกุมและยึดทรัพย์ผู้ค้าตั้งแต่ระดับรายใหญ่ไปจนถึงรายย่อย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย เพื่อควบคุมการลักลอบค้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์และจัดการกับปัญหายาเสพติดสังเคราะห์ร่วมกับประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ตลอดจนได้เชิญมิสวาลีเข้าร่วมเป็นเกียรติในงานสัมมนานานาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
​ภายหลังการหารือฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมกล่าวเปิดกิจกรรมคู่ขนานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในหัวข้อ “การใช้มาตรการที่รอบด้านในการป้องกันการรั่วไหลของสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมระหว่างประเทศ – การร่วมกันจัดการกับความท้าทายของโลกและการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการสร้างธรรมาภิบาลโลก” (Take Comprehensive Measures to Prevent the Division of Non-Scheduled Precursor Chemicals for Illicit Drug Manufacture - Jointly Tackle Global Challenges and Actively Engage in Global Governance) โดยได้เน้นย้ำเจตนารมณ์ร่วมกันในการป้องกันการรั่วไหลของสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไปสู่แหล่งผลิตยาเสพติด รวมถึงยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ปัญหาดังกล่าว 
นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะ ได้หารือทวิภาคีกับ อิหร่าน นำโดยนายเอสคานดา โมเมนิ  คาลากิริ (Mr. Eskanda Momeni Kalagiri) เลขาธิการสำนักงานควบคุมยาเสพติด และคณะ และเยอรมนี นำโดย นายบวร์กฮาร์ด บลีเนิร์ท (Mr. Burkhard Blienert) กรรมาธิการของรัฐบาลกลางด้านนโยบายยาเสพติดและการติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข สาธารณรัฐเยอรมนี และคณะ โดยทั้งสองประเทศยินดีที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อยกระดับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดระหว่างประเทศ รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการพัฒนาทางเลือก และมาตรการด้านการแก้ไขปัญหาผู้ติดยาเสพติดโดยใช้สาธารณสุขนำ และการใช้แนวทางการลดอันตราย ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้เน้นย้ำนโยบายยาเสพติดของไทยที่ยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อเพิ่มจำนวนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพให้กลับเข้าสู่สังคมและพัฒนาความสามารถให้เข้าสู่ภาคแรงงานต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมสิ้นสุดลงโดยการรับทราบสรุปผลการอภิปรายโต๊ะกลม (Roundtable Discussion) ในสองหัวข้อ ได้แก่ 1) การประมวลติดตามผล: การดำเนินงานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 และ 2) แนวทางการดำเนินงาน: หนทางสู่ปี ค.ศ. 2029 ซึ่งจัดคู่ขนานกับวาระการอภิปรายทั่วไป ซึ่งประเทศสมาชิกมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องเร่งรัดการดำเนินงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านยาเสพติดในทุกมิติต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น