วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566

"สรรเพชญ” จวกรัฐบาล จงใจทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง โดยการตกแต่งตัวเลขเงินนอกงบประมาณให้ดูดี โดยทำงบเกินดุล เกือบ 3 แสนล้านบาท

 ซ้ำร้าย “ไม่จริงใจกับท้องถิ่น” โดยการแบ่งสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่ำลง
         วันที่ 29 ธันวาคม 2566 นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ในฐานะคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่จะมีการพิจารณาวาระแรก ขั้นรับหลักการในวันที่ 3 ถึง 5 มกราคม 2567 ซึ่งงบประมาณปี พ.ศ. 2567 มีกรอบงบประมาณวงเงินรวม 3.48 ล้านล้านบาท ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมของ 4 หน่วยงานหลักทางการเงิน การคลัง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าหน่วยงานที่รับงบประมาณ ซึ่งเป็นผู้นำนโยบายของรัฐไปปฏิบัติ ได้มีคำของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณ สูงถึง 5.8 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่า หน่วยงานที่ขอรับงบประมาณ จะถูกตัดลดงบประมาณที่ยื่นคำขอมา กว่า 2.32 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ที่ถูกตัดลดงบประมาณจากคำขอ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าความทุกข์ร้อนของประชาชนหลายประการ ที่ร้องเรียนผ่านทางสภาผู้แทนราษฎรหรือร้องเรียนผ่านหน่วยงานโดยตรง อาจจะไม่ได้รับการแก้ไขหรือดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 เนื่องจากวงเงินงบประมาณมีจำกัด
         นอกจากนี้ สส.สรรเพชญ ได้ตั้งข้อสังเกตงบประมาณที่น่ากังวล คือ ตามเอกสารงบประมาณปี 2567 ที่รัฐบาลมีรายได้เงินนอกทั้งสิ้น 2.40 ล้านล้านบาท และรายจ่ายเงินนอก 2.11 ล้านล้านบาท ทำให้เงินนอกงบประมาณเกินดุลที่กระทรวงการคลังได้ตั้งไว้ 295,828 ล้านบาท จะเป็นการสร้างภาพฐานะการคลังของรัฐบาลให้ดูดีเกินไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องคงเป้าหมายการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2567 ไว้ที่ 693,000 ล้านบาท รองรับการเบิกจ่ายที่ได้รับการจัดสรรไว้ตามที่รัฐสภาอนุมัติ และส่วนที่เบิกจ่ายไม่ทันก็คาดว่าหน่วยรับงบประมาณคงขออนุมัติคณะรัฐมนตรีกันเงินนี้ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีถัดไป ทั้งนี้คงจะไม่มีหน่วยรับงบประมาณใดนำเงินเหลือจ่ายส่งคืนคลัง ดังเช่นสมัยท่านชวน หลีกภัยเป็นประธานสภาที่ให้นำเงินคืนส่งคลัง
          ดังนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ การทำให้ดุลเงินนอกงบประมาณเกิดการเกินดุลจึงเป็นภาพมายาเท่านั้น เพราะไม่ใช่เงินของรัฐบาลแต่เป็นเงินของหน่วยงานอื่นที่ได้รับอนุมัติให้ถือเงินส่วนนี้ไว้ใช้จ่ายหมุนเวียนได้ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล ทุนหมุนเวียน หรือกองทุนต่างๆ เป็นต้น 
          อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปี พ.ศ. 2566 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 62.1 และคาดการณ์ในปี 2567 ร้อยละ 64.0 สิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงหากจะดำเนินนโยบาย Digital Wallet คือเรื่องของสภาพคล่องในตลาดการเงิน และกฎหมายมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่กำหนดว่าการกู้เงินกรณีพิเศษจะต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งตนไม่ติดขัดที่รัฐบาลจะมุ่งดำเนินนโยบาย Digital Wallet แต่ตนไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินเพื่อมาทำนโยบายนี้เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
          ในส่วนงบประมาณที่เป็นเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สส.สรรเพชญ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สัดส่วนรายได้ระหว่างรัฐบาล กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คิดเป็นร้อยละ 29.1 ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ยังไม่ถึงร้อยละ 35 ตามจุดมุ่งหมายที่ควรจะจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าส่วนกลาง แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารงบประมาณแล้วเห็นได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเกิดข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณเนื่องจากงบประมาณจะไม่เพียงพอต่อการจัดทำบริการและกิจกรรมสาธารณะ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น