กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมแผนพัฒนาศักยภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม จัดหลักสูตร Up-Skill ดิจิทัล EV และRobot นำร่องใน 14 นิคมอุตสาหกรรม รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสภาพัฒน์ ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวจากภาคส่งออก การอุปโภคบริโภคและท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรม ปี 2567 และสภาอุตสาหกรรมภาค 5 ภาค เพื่อนำเสนอมุมมองแนวโน้มอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในปีนี้จาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ จากข้อมูลดังกล่าวกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในฐานะหน่วยงานที่ต้องพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีผลิตภาพสูง รองรับความต้องการของตลาดแรงงาน จึงร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อวางแผนในการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศ ซึ่งครั้งนี้ ได้ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมทั้งหลักสูตรการฝึกเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานของไทยให้ทันต่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตด้านอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งตรงกับนโยบาย Up-Skill for More Earn เพื่อการมีงานทำ รองรับเศรษฐกิจใหม่ของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอีกด้วย
นางสาวบุปผา กล่าวต่อว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมแผนในการ Up–Skill และ Re-Skill ให้แก่แรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และหุ่นยนต์ ดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้มีการร่วมกันกำหนดหลักสูตรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาใช้ในการฝึกอบรม ซึ่งจะนำร่องใน 14 นิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมบางขัน นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ นิคมอุตสาหกรรมสงขลา และนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว
“การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้แรงงานไทยได้รับการยกระดับกำลังแรงงานของประเทศ เพิ่มผลิตภาพแรงงานและยกระดับรายได้ของกำลังแรงงานได้อย่างยั่งยืน รองรับการเติบโตของประเทศในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย” อธิบดีกล่าวในท้ายที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น