วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

กรมพัฒน์ จับมือ ม.กาฬสินธุ์ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แรงงานทุกช่วงวัยด้วย Credit Bank

       วันที่ 23 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมแพรวา ชั้น 9 อาคาร 15 คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับรองศาสตราจารย์ จิรพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่แรงงานทุกช่วงวัยได้พัฒนาตนเองและยกระดับการศึกษาที่สูงขึ้น เป็นใบเบิกทางสู่การมีรายได้ตามวุฒิการศึกษา โดยจัดทำระบบ Credit Bank ด้านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการฝึกอบรม พร้อมก้าวสู่ความสำเร็จปฏิวัติการศึกษาไทย ซึ่งเป็นระบบ Credit Bank ระดับ ปวส.แห่งแรกของไทย
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า วันนี้มีความยินดียิ่งที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แรงงานทุกช่วงวัย ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งนำระบบเครดิตแบงก์บรรจุไว้ในการเรียนการสอน โดยนักศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนต่อเนื่องครบ 4 ปี หากเรียนไปช่วงหนึ่งแล้วต้องการออกไปทำงาน สร้างธุรกิจแล้วค่อยกลับมาเรียนต่อ มหาวิทยาลัยก็จะเก็บหน่วยกิตไว้ให้ ซึ่งจะกลับมาเรียนเมื่อไรก็ได้ โดยผลการเรียนยังคงอยู่ และสามารถเรียนรู้ได้หลากหลายสาขาหรือวิชา ใช้เวลาเรียนได้ไม่จำกัด สามารถเปลี่ยนการเรียนได้โดยไม่ต้องเริ่มเรียนใหม่ จึงเกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากรมได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยในครั้งนี้ รวมความร่วมมือทั้งสิ้น จำนวน 11 แห่ง และเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้มีการเทียบโอนหน่วยกิตในระดับ ปวส.ด้วย ทั้งนี้ กำลังอยู่ในช่วงของการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของทั้ง 11 แห่ง และผู้ที่ประสงค์การเทียบโอนหน่วยกิตไว้ด้วยกัน ช่วงระหว่างนี้ ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตหรือเก็บประสบการณ์รอไว้ก่อนได้ตลอดเวลา
กรมมุ่งเน้นการเทียบโอนประสบการณ์ด้านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน และการรับรองประสบการณ์บุคคล พิจารณาจากการสะสมผลงาน หรือจากการได้รับรางวัลในการแข่งขันฝีมือแรงงาน เพื่อให้ผู้เรียนหรือผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสเชื่อมโยงความรู้กับประสบการณ์การทำงานให้เป็นเนื้อเดียวกัน ช่วยให้มีรายได้สูงขึ้น เพิ่มโอกาสในการพัฒนาตนเองและประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

"การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ระบบธนาคารหน่วยกิตนั้น จะขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมหลากหลายสาขาอาชีพมากขึ้น รวมถึงเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยบูรณาการความร่วมมือกับสถานศึกษา ชุมชนท้องถิ่น สถาบันฝึกอบรม สถานประกอบกิจการ และหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดที่แรงงานทุกช่วงวัยควรจะได้รับ ความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้แรงงานได้รับโอกาสด้านการศึกษามากขึ้น" อธิบดีบุปผากล่าว
รองศาสตราจารย์ จิรพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมการบูรณาการดังกล่าวเพื่อนำร่องการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ด้านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และการฝึกอบรมใน 3 หลักสูตร ได้แก่ 1. วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า 2. ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชาอุตสาหกรรม สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง และ 3. ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชาอุตสาหกรรม สาขาวิชาเทคนิคยานยนต์ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น คือ หลักสูตร non-degree การจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินผล ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อีกทั้งยังส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการที่ร่วมจัดการศึกษาโครงการสหกิจศึกษา จัดประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการศึกษาตลอดชีวิตระบบธนาคารหน่วยกิตให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดแก่ผู้เรียนต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น