20 โรงพยาบาล ตั้งหน่วยเก็บ DNA แก้ไขปัญหาสิทธิ-สถานะคนไทยไร้สิทธิ ให้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ กว่า 2,570 คน ตั้งเป้าปี 70 เปิดหน่วยครบ 13 เขต สปสช. ค้นหา-ประสาน-ติดตามสิทธิ ร่นระยะเวลาพิสูจน์จาก 10 ปี เหลือ 4 เดือน
(วันที่ 2 เมษายน 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม ว่า กระทรวงยุติธรรม นำโดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) สถาบันเอเชียศึกษา และภาคีเครือข่าย มอบประกาศเกียรติคุณ และเกียรติบัตรองค์กรและบุคคลดีเด่น 20 โรงพยาบาล ที่จัดเก็บสารพันธุกรรม และสนับสนุนการดำเนินงานการเข้าถึงสิทธิของคนไทยไร้สิทธิเป็นอย่างดียิ่ง ตามกรอบบันทึกความร่วมมือ (MOU) "การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน" 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สสส. สปสช. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ความหมายที่สำคัญของคำว่า "มนุษย์" เพราะมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า ไม่ใช่ปัจจัยการพัฒนาแต่ต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งการเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไร้สถานทางทะเบียนราษฎรเท่ากับถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ความคุ้มครองถือเป็นความอ่อนด้อยของการบริหารประเทศและจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ของสังคม
ปัญหาการไร้สิทธิ ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เป็นเรื่องสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรมจึงให้ความสำคัญและมุ่งหวังให้มีความเท่าเทียมกันในทุกกลุ่มคน โดยมีนโยบายขับเคลื่อนกระทรวงยุติธรรมไปสู่ยุค “ความยุติธรรมสำหรับทุกคนหรือ ความยุติธรรมนำประเทศ” โดยมุ่งเน้นการนำความยุติธรรม เข้าหาประชาชน มิใช่ให้ประชาชนเป็นผู้ต้องเข้ามาหาความยุติธรรมเพียงฝ่ายเดียว การเข้าถึงความยุติธรรมเป็นสิทธิมนุษยชน
ขั้นพื้นฐานที่มีคุณค่าต่อสังคม เป็นสิ่งที่ประชาชนจับต้องได้ ความถูกต้องและความยุติธรรมจะต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น การช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างถ้วนหน้า จึงเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงยุติธรรม
ในวันนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาคนไทยไร้สิทธิสถานะ บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติและผนึกกำลังเข้าช่วยเหลือ สร้างการเข้าถึงบริการให้กับผู้ประสบปัญหา ผ่านเครือข่ายจัดเก็บสารพันธุกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะทางทะเบียนราษฎร เพื่อให้คนเหล่านี้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
ทางด้าน นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุ ประเทศไทย มีคนไร้สิทธิสถานะ คนไร้สัญชาติในประเทศไทย จำนวนกว่า 900,000 คน โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชนให้บริการตรวจสารพันธุกรรมแก่บุคคล ซึ่งผ่านการพิจารณาจากกรมการปกครองให้เข้ารับการตรวจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และยังมีการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่เพื่อจัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคลในพื้นที่ห่างไกลและชายขอบ โดยในช่วงปี 2562 - 2566 พบปัญหาสำคัญ คือ การอยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลไม่สะดวกต่อการแจ้งเกิด สร้างภาระค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดแนวทางการพัฒนาเครือข่ายจัดเก็บสารพันธุกรรมในพื้นที่ห่างไกล เพื่อยกระดับการอำนวยความยุติธรรมให้เข้าถึงประชาชน กระทั่งเกิดเป็นความร่วมมือ 9 หน่วยงานดังกล่าวดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพ และสวัสดิการภาครัฐ ปัจจุบัน มีกลุ่มประชากรคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนกว่า 991,425 คน ตั้งแต่ปี 2556 สสส. ภาคีเครือข่ายร่วมทำงานพิสูจน์สิทธิ และการเข้าถึงบริการสุขภาพในกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคลอย่างต่อเนื่อง พัฒนารูปแบบแนวทางเข้าถึงสุขภาพ และผลักดันให้คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ผลักดันการทำงาน แก้ไขนโยบายผ่าน คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ ในปี 2563 เกิดความร่วมมือ (MOU) ภาคประชาสังคม และภาควิชาการทั้ง 9 หน่วยงาน ทำให้มีกลุ่มคนไทยไร้สิทธิ และกลุ่มชาติพันธุ์รวมกว่า 2,570 คน เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ และเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสิทธิสุขภาพที่เหมาะสม
“สสส. สานพลังความร่วมมือในการพัฒนาต้นแบบ กลไกการทำงาน และเสริมศักยภาพองค์กรภาคีต่าง ๆ สร้างรูปธรรมการทำงานทั้งในระดับพื้นที่ และนโยบาย จากการนำร่อง 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล ในปี2564 สู่ 12 จังหวัด 20 โรงพยาบาล เสริมกระบวนการค้นหา ประสาน ส่งต่อ ติดตามสิทธิ เพื่อร่นระยะเวลาพิสูจน์สิทธิให้เร็วขึ้นจากเดิมใช้เวลาเป็น 10 ปี เหลือเพียง 4-12 เดือน เป้าหมายต่อไป คือ การขยายหน่วยเก็บ DNA ให้ครบ 13 เขต สปสช. ปัจจุบันเปิดได้ 9 เขต คาดการณ์ว่าจะครบในปี 2570 ในการขยายผลหน่วยเก็บ DNA ให้ครอบคลุม และเพิ่มประสิทธิภาพคืนสิทธิให้คนไทย ไม่มีใครต้องไร้สิทธิ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายกับทางโรงพยาบาล ในการรักษาผู้ป่วยตกสำรวจก่อนมีบัตรประชาชน และบูรณาการร่วมกับ กรมการปกครอง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สปสช. มพศ. กลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS) คืนสถานะ กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนไทยตกหล่น และกลุ่มชาติพันธุ์ ใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี กว่า 1,332 คน ” นางภรณี กล่าว
ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คือ การดูแลคนไทยให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างครอบคลุม และทั่วถึงรวมถึงคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ เป็นหนึ่งในนโยบายที่ สปสช.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการที่ยึดมั่นคือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และในวันนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของ สปสช. ที่ได้ร่วมกับทาง กทม. สสส. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และภาคีเครือข่าย สำหรับคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะนี้ กลุ่มเปราะบาง คนไร้บ้าน และคนไร้สิทธิ ซึ่งเป็นคนไทยตกหล่นด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ไม่ได้แจ้งเกิด เอกสารบุคคลสูญหาย ทำให้ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนกับประชาชนทั่วไป โดยการมีหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจที่เข้มแข็ง จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเปราะบาง ได้พิสูจน์สถานะความเป็นคนไทย และได้รับสิทธิต่างๆ ที่ควรได้รับ รวมถึงสิทธิบัตรทอง 30 บาท ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายปฐมฤกษ์ เกตุทัต ประธาน มพศ. และผู้แทนภาคีเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า มูลนิธิฯ ทำหน้าที่เชื่อมเครือข่าย พัฒนาศักยภาพ และความรู้ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร การแยกประเภทกลุ่มคนที่มีปัญหาสิทธิสถานะบุคคลให้ชัดเจน เพื่อให้แกนนำเข้าใจได้ง่าย สนับสนุนการถอดบทเรียนและชุดความรู้ เป็นเครื่องมือตั้งต้นเมื่อต้องนำผู้ประสบปัญหาไปยื่นคำร้อง ณ ที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นต่างๆ ช่วยลดข้อขัดแย้งในการพิสูจน์ตัวตน นอกจากนี้ยังประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่ออุดช่องโหว่ด้านกฎหมาย ข้อระเบียบของ รพ. โดยคณะทำงานฯ ติดตามการทำงานให้กลุ่มผู้มีปัญหา สามารถยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อ ขอทำบัตรประชาชนด้วยตนเอง และหาแนวทางรูปแบบการดำเนินงานในพื้นที่ต่าง ๆ ให้เกิดรูปธรรมที่เหมาะสมในระดับพื้นที่ เช่น อ.กาบเชิงโมเดล เป็นการทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการทั้ง ประชาชน สำนักทะเบียน และโรงพยาบาล อย่างเป็นระบบ คืนสิทฺธิ สวัสดิการทางสังคม สุขภาพ การศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น