วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดงานมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม จังหวัดเชียงใหม่

แก้ปัญหาหนี้สินประชาชนครบวงจร หนี้สินเกษตรกร-หนี้สินครัวเรือน-หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนุนไกล่เกลี่ยลูกหนี้ เข้าสู่กระบวนการกว่า 17,000 ราย
(8 เมษายน 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ ว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 4 จังหวัดเชียงใหม่ ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จัดโดยกรมคุ้มสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดโอกาสให้หน่วยงาน สถาบันการเงิน และภาคธุรกิจ กับลูกหนี้ได้เจรจาไกล่เกลี่ยและหาทางออกร่วมกันด้วยสันติวิธี มีการจัดบูทนิทรรศการ สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ และให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย โดยมีนายวรวิทย์  ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และนางเพ็ญรวี มาแสง รองอธิบดีกรมบังคับคดี เป็นผู้กล่าวรายงาน ในการนี้ พันตำรวจโท พงษ์ธร  ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม นางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายณรงค์ จุ้นเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเข้าร่วมงานด้วย
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก การมาเยือนเชียงใหม่ในครั้งนี้ คือ มาแก้ปัญหาหนี้สินของภาคประชาชน ที่ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตามที่ได้ประกาศเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ในการแก้ปัญหาหนี้สินประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะหนี้สินเกษตรกร หนี้สินครัวเรือน รวมถึงหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีความเป็นธรรม มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ กระบวนการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ ซึ่งมีการเชิญลูกหนี้กว่า 17,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ก่อนฟ้อง 4,000 ราย และลูกหนี้หลังฟ้องอีก 13,000 ราย รวมมูลค่าหนี้ประมาณ 820 ล้านบาท เข้าสู่กระบวนการ ร่วมกับสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน บริษัทบัตรเครดิต กลุ่มสหกรณ์ และผู้ประกอบการด้านลิสซิ่ง ให้เกิดการไกล่เกลี่ยหนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ สนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินเยี่ยมชมการจัดบูธของหน่วยงานต่าง ๆ และสนทนากับลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ด้วย รวมทั้งมีการสัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั้น เรามี พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี เบี้ยปรับลดเหลือ 0.5% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน นอกจากนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการหลายประเด็นในทางกฎหมาย ทั้งการออกประกาศปรับปรุงยอดหนี้ กองทุน หลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการคืนเงิน ส่วนที่ชำระเงินที่ปรับปรุงใหม่ รวมถึงระเบียบกองทุนที่งดบังคับคดีชั่วคราวสำหรับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกัน
รวมทั้งยังได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปรับชำระหนี้ มีการนำยอดหนี้มาคำนวณใหม่ที่ตัดเงินต้นก่อนค่อยไปตัดดอกเบี้ย ผู้กู้ยืมบางรายสามารถปิดบัญชีได้ทันที มีการคืนเงินผู้ที่ชำระเกินหลังจากปรับเกณฑ์ โดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 
สำหรับการจัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้เช่าซื้อรถยนต์ หนี้สินข้าราชการ หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผิดนัดชำระหนี้เข้าเกณฑ์จะถูกฟ้องดำเนินคดี หรือไม่มีกำลังผ่อนชำระตามสัญญา ได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และรู้สิทธิตามกฎหมาย เข้าถึงความยุติธรรม รวมถึงสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผน และสร้างวินัยทางการเงินให้ประชาชนเป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน โดยลูกหนี้จะได้รับโปรโมชั่นนอกจากจะไม่ถูกฟ้องคดี ไม่ถูกยึดทรัพย์ ไม่ถูกขายทอดตลาด แล้วยังจะได้รับสิทธิพิเศษ ส่วนลดจบหนี้ ส่วนลดดอกเบี้ย ลดค่างวดและขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย ภายในงานมีการให้บริการต่างๆ มายมาย เช่น การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย และการสร้างการตระหนักรู้ เกี่ยวกับ การวางแผน และสร้างวินัยทางการเงิน การจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ ให้คำปรึกษาทางกฎหมายหรือการเงินของ 13 หน่วยงาน และการให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษา โดยมีภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จำนวน 16 สถาบัน ประกอบด้วย (1) ธนาคารกรุงไทย (KTB) (2) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) (3) บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK) (4) บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด (JAM) (5) บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) (6) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) (7) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) (8) ธนาคารออมสิน (GSB) (9) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) (10) ธนาคารอิสลาม (ISBT) (11) โตโยต้า ลีสซิ่ง (12) ธนาคารไทยพาณิชย์ (13) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (14) กรมบังคับคดี (15) ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย (16) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยภายในงานเชิญลูกหนี้เข้าร่วมงาน จำนวน 17,927 ราย โดยแยกเป็นลูกหนี้ ก่อนฟ้องจำนวน 4,355 ราย และลูกหนี้หลังศาลมีคำพิพากษา จำนวน 13,572 ราย รวมทุนทรัพย์จำนวนกว่า 828 ล้านบาท
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพร้อมด้วยกรมบังคับคดี พร้อมเดินหน้าจัดงาน“มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งได้รับโปรโมชั่นดี ๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายจากสถาบันการเงิน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร 1111 กด 77 และสายด่วนกรมบังคับคดี โทร 1111 กด 79 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น