วันที่ 22 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 น. ณ ห้องรับรองประจำกระทรวงยุติธรรม (ห้อง 3 - 01) ชั้น 3 อาคารกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยพันตํารวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุติธรรม, นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม และนางสาวจุฑารัตน์ จินตกานนท์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ให้การต้อนรับนางกลอเรีย มาคาปากัล - อาร์โรโย (H.E. Mrs. Gloria MACAPAGAL ARROYO) คณะกรรมาธิการ ICDP (อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์) นายซาเกีย เอลเบกดอร์จ (H.E. Mr. Tsakhia ELBEGDORJ) คณะกรรมาธิการ ICDP (อดีตประธานาธิบดีมองโกเลีย) และนายเฟลิเป้ เดอ ลา โมเรนา คาซาโด (H.E. Mr. Felipe DE LA MORENA CASADO) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปน ประจำประเทศไทย
ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการ โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฟิลิปปินส์ และมองโกเลีย รวมถึง สเปน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการ ICDP ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภทแล้ว
ICDP ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่หยุดพักใช้โทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (Moratorium) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล โดยการนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใส เท่าเทียม ให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินนโยบายโดยยึดหลักการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งยกระดับทั้งหลักนิติธรรม กระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรม รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับประเทศไทยนั้น มีพัฒนาการเชิงบวกหลายประการที่เป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต โดยเฉพาะการแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งมุ่งเน้นแก้ปัญหาผู้เสพยาเสพติดด้วยการบำบัดรักษามากกว่าการลงโทษทางอาญา อีกทั้งที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมมุ่งผลักดันการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตผ่านกิจกรรมต่างๆ มาโดยตลอด รวมถึงได้มีการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชนต่อการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงยุติธรรมจะศึกษาความเหมาะสมในการกำหนดทิศทางที่เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต การใช้มาตรการทางเลือกอื่นๆ รวมถึงถอดบทเรียนจากสถานการณ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต เพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางในการขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ ICDP ยินดี และพร้อมสนับสนุนกระทรวงยุติธรรมในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และแนวปฏิบัติในประเด็นข้างต้นต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น