วันที่ 2 มีนาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 โดยภายในงานมีพิธีถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” มีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมพิธีวางพานพุ่มสักการะ พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการที่เผยแพร่ข้อมูลภารกิจมาตรฐานฝีมือแรงงานที่จัดแสดงภายในงาน ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร ขณะที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ร่วมจัดพิธีดังกล่าว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน เพื่อน้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติถวายพระราชสมัญญาแด่รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” พร้อมกับกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งวันนี้เมื่อปี 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ณ ลุมพินีสถาน และพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการช่างของไทย ความตอนหนึ่งว่า “…ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่าง ๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่าง จึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุก ๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริง ๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้ง 3 ประการนี้ จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า” พระองค์ได้ฝากความคิดนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้น้อมนำพระราชดำรัสไปใช้ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานไทย ให้มีความรู้ความสามารถได้มาตรฐานเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่งเสริมให้มีงานต่อไป
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระปรีชาสามารถด้านงานช่าง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และสนพระราชหฤทัยในงานช่างอย่างสม่ำเสมอ ทรงใช้ทักษะและความถนัด ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ด้วยพระองค์เองเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่สร้างชื่อเสียงและคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ อีกทั้ง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น