วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 21


 ยกระดับหลักนิติธรรมตามดัชนีชี้วัด Sustainable Development Goals (SDGs) พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ยุติธรรมนำประเทศ เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า”
(28 มีนาคม 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 อาคารปฏิบัติงาน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาปาฐกถาพิเศษ “ยุติธรรมนำประเทศ เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า”  ในงานการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 21 โดยมี พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และคณะผู้บริหารสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม รวมทั้งคณะผู้บริหารบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ 
ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้ มีประชาชน นิสิต นักศึกษาและเยาวชนที่สนใจร่วมรับฟังกว่า 300 คน รวมทั้งยังมีการถ่ายทอดสัญญาณสดผ่านช่องทาง ZOOM และ Facebook Live ของสำนักงานกิจการยุติธรรม เครือข่ายนิติศาสตร์เพื่อสังคม รวมถึงถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมทาง MCU Channel ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทภารกิจและเสนอนวัตกรรมของหน่วยงานด้วย
ในการกล่าวปาฐกถาของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า การประชุมทางวิชาการในครั้งนี้ มีหัวข้อการพูดคุยที่ค่อนข้างเหมาะสมกับการยกระดับงานยุติธรรม ที่อาจหมายรวมถึงกฎหมายที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมกับหลายองค์กรต่างๆ ทั้งของกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงต่างๆ ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายให้สามารถร่วมกันทำงานและนำพาประเทศไปอย่างมีทิศทาง อันเป็นการยกระดับหลักนิติธรรม ตามดัชนีชี้วัด Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล  ซึ่งการยกระดับนั้นมีหลักสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก หลักการประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นใหญ่ต้องมีศักดิ์ศรี สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและได้รับการคุ้มครอง และประการที่สอง คือ หลักนิติธรรมที่จะต้องเริ่มจากมุมมองของบริบทในสังคมไทยซึ่งต่างจากบริบทของต่างชาติ 
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ยกตัวอย่างงานของกรมราชทัณฑ์ ที่พบว่า ผู้ต้องขังกว่า 2.7 แสนคน หรือประมาณ 75% ไร้การศึกษาหรือมีการศึกษาที่ต่ำมาก อย่างระดับประถม ซึ่งพวกเขาต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพ ได้รับการศึกษาภาคบังคับตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นหน้าที่ที่ผมต้องรับผิดชอบ
"อดีตเป็นบทเรียน แต่ปัจจุบันและอนาคต คือ ความรับผิดชอบซึ่งผมประกาศแล้วว่า ความยุติธรรมจะต้องเข้าถึงประชาชนอย่างถ้วนหน้า"
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้ 2 บทบาทของกระทรวงยุติธรรม ที่จะยกระดับ "ความยุติธรรม" ซึ่งเป็นคำที่มีความเป็นนามธรรมสูง คือ 1.การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม  2.การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนทางกฎหมาย เพราะอาชญากรนั้นไม่ใช่แค่ผู้กระทำผิด แต่ยังหมายถึงกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทางกฎหมาย หากเป็นการทำหน้าที่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่เกิดประโยชน์กับคนส่วนรวม ดังนั้น กฎหมายลูกต่างๆ ของแต่ละฉบับจำเป็นต้องเริ่มจากฝ่ายนิติบัญญัติ และเขียนจาก "ผู้ปราดเปรื่อง" ที่เข้าใจ ลึกซึ้งถึงปัญหาของประชาชน เพื่อให้กฎหมายต่างๆ ไม่เปิดช่องการคอร์รัปชั่นที่จะทำให้สังคมเกิดต้นทุนทางกฎหมาย การบัญญัติกฎหมายไม่ควรใช้ถ้อยคำที่มีความหมายแอบแฝง คลุมเครือ  ทำให้กฎหมายนั้นๆ กลายเป็นสมบัติของคนกลุ่มเดียว  ซึ่ง "กันไว้ดีกว่าแก้" คือ คติพจน์ในการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ สังคมเองก็ต้องสนับสนุนทุกประเด็นในเรื่องของ "คุณงามความดี" ไม่นิ่งดูดายกับความไม่ถูกต้องด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรมในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 21 เพื่อนำเสนอองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา ต่อยอด ระบบการบริหารงานยุติธรรมให้สอดคล้องตามหลักนิติธรรมและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง และพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นที่พึ่งเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันในทุกมิติ ซึ่งหัวข้อในเวทีการนำเสนอในปีนี้ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับกระบวนการยุติธรรมไทย นวัตกรรมเพื่อลดการกระทำความผิดซ้ำ การหาแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ การพัฒนาการยุติธรรมทางแพ่งเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น