วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

รมว.ยธ ลงพื้นที่ สกลนคร และบึงกาฬ เร่งสร้างการมีส่วนร่วม ชี้รัฐบาลเน้นกลไก จังหวัด ชุมชน เป็นพลังสำคัญแก้ยาเสพติด

      วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ณ วัดสว่างแสงจันทร์ บ้านดงมะไฟ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร โดยมี นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และคณะให้การต้อนรับ  
    จากนั้นคณะได้เดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ณ โรงเรียนพรเจริญวิทยา อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ โดยมี นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ และคณะให้การต้อนรับ  
            ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบนโยบายเรื่องยาเสพติดซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ  โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำขอให้ ทุกภาคส่วน เอาจริงเอาจัง ในการช่วยเหลือลูกหลาน ให้พ้นจากยาเสพติดให้ได้ โดยต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด การจัดการยาเสพติด ต้องเริ่มที่แหล่งต้นตอ ซึ่งมีการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน การจับกุมยึดทรัพย์เครือข่ายกลุ่มนักค้า การจัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหาด้านจิตเวชจากยาเสพติด และการจัดการแหล่ง แพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ให้เข้ารับการบำบัดรักษา และการป้องกันในกลุ่มต่างๆ  ทุกระดับ  
การดำเนินการต่อปัญหายาเสพติดในระดับกระทรวง/กรม สำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีการบูรณาการร่วม 27 หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกรมสรรพากร เป็นต้น เข้ามาร่วมอย่างจริงจัง ส่วนในพื้นที่ ให้มีการจัดตั้งกลไกการอำนวยการและขับเคลื่อนในพื้นที่ระดับจังหวัด มี 5 ภาคีร่วม ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายทหาร/กอ.รมน.จังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นกลไกในการดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายของแผนปฏิบัติ ไว้ใน 4 ลด คือ  
1. ลดความรุนแรงจากภาวะทางจิตเวชในสังคม 2. ลดผู้เสพ/ผู้ติด 3. ลดการค้ายาเสพติดที่แพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน และ 4. ลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดยาเสพติด
     พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การลงพื้นที่ของตน เพื่อปลุกความร่วมมือของแต่ละพื้นที่ โดยนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการใช้ กลไกชุมชน เป็นฐาน สร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการในแนวทาง "ผู้ว่า CEO" บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีภายในจังหวัด จัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดของท่านแบบเบ็ดเสร็จ จึงต้องลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อถ่ายทอดไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ให้ได้รับความเข้าใจในแนวทางการแก้ไขปัญยาเสพติดของรัฐบาล และที่สำคัญคือการสร้างกระแสการมีส่วนร่วมแก้ปัญหา ร่วมไปกับรัฐ เพื่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างครอบคลุมและมีผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น