วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

นครพนม-หน่อเนื้อลูกนครพนม ผนึกกำลังจัดงาน “โฮม-ฮอย-ฮีต 3 วัยฯ” ร่วมอนุรักษ์ สืบสาน วัฒนธรรมบรรพบุรุษ มาที่เดียวจบครบทุก 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ

           วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.30 น. นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ได้เชิญเครือข่ายวัฒนธรรม 12 อำเภอ ประกอบด้วยสภาวัฒนธรรม อ.เรณูนคร อ.นาแก อ.ท่าอุเทน อ.นาหว้า อ.เมืองฯ อ.ศรีสงคราม อ.โพนสวรรค์ อ.ปลาปาก อ.ธาตุพนม อ.วังยาง อ.บ้านแพง และ อ.นาทม พร้อมประธานเครือข่าย ชมรมฟ้อนรำบ้านใต้ ชมรมศรีโคตรบูรณ์ ชมรมพนมนครานุรักษ์ รวมทั้ง รร.นาหว้าพิทยาคม รร.นครพนมวิทยาคม รร.เชียงยืนวิทยา รร.เรณูนครวิทยานุกูล รร.อนุบาลนิลวรรณ รร.สุนทรวิจิตร รร.ธาตุพนม รร.คำเตยอุปถัมภ์ ร่วมประชุมเพื่อเตรียมงานโฮมฮอยฮีตนครพนม 3 Gen (ตุ้มโฮม 3 วัยใส่ใจวัฒนธรรม) โดยมีขึ้นในวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ที่ห้องประชุมหลวงปู่คำพันธ์โฆษะปัญโญ ชั้น 2 อาคารสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม 
 คำว่า “โฮม” ภาษาอีสานแปลว่า “รวม ชุมนุม ประชุมกัน” ส่วนคำว่า “ฮอย” หรือไทยภาคกลางเรียก “รอย” เช่น “สืบฮอยตาว่าฮอยปู่” หมายความทางภาคกลางคือ “ทำตามตายายและปู่ย่าเรื่อยมา” และคำว่า “ฮีต” แปลว่า “จารีต กฎ ระเบียบ ประเพณี สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมาเป็นเวลานาน” ซึ่งคำว่าฮีตนี้ไม่จำเป็นต้องมีบทบังคับเหมือนกฎหมาย หรือกฎศีลธรรมในทางศาสนา กล่าวคือคนผู้สร้างจารีตประเพณีขึ้น เขามีจุดมุ่งหมาย เพื่อรวมคนให้เป็นหมู่เป็นคณะไม่แตกแยกกัน ทางภาคอีสานจึงมี “ฮีตสิบสอง” หมายถึงประเพณี 12 เดือนที่ปฏิบัติตามเดือนทางจันทรคติทั้งสิบสองเดือน โดยเกี่ยวเนื่องกับหลักทางพุทธศาสนา ฯลฯ  
         ดังนั้น สภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม โดยชมรมพนมนครานุรักษ์ และเครือข่ายวัฒนธรรมต่างๆ จึงได้จัดงานอนุรักษ์ส่งเสริมภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของ จ.นครพนม ในชื่อโครงการ “โฮม ฮอย ฮีตนครพนม  3 Gen(Generation) ตุ้มโฮม 3 วัย ใส่ใจวัฒนธรรม” วัตถุประสงค์คือส่งเสริมเครือข่ายวัฒนธรรมทุกระดับ ในการดำเนินงานทางวัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมแบบบูรณาการ 3 วัย ได้แก่ วัยผู้ใหญ่ วัยเด็กระดับมัธยม และประถมศึกษา) ได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูสืบสาน สร้างสรรค์งานวัฒนธรรม เกิดความรักและความภาคภูมิใจ ในวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้แก่ท้องถิ่น ตลอดถึงการมีส่วนร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด ให้ยกระดับเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักต่อไป
            โดยกำหนดวันจัดงานทางวัฒนธรรมดังกล่าวข้างต้น ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ริมแม่น้ำโขง ณ ลานพนมนาคา ใกล้กับองค์พญาศรีสัตตนาคราช ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ตั้งแต่เวลา 15.00-21.00 น. นักท่องเที่ยวจะได้ชมการฟ้อนรำจาก 9 ชนเผ่า (แสก,ย้อ,กะเลิง,ผู้ไทย,โส้,ไทยข่า,ไทยกวน,ไทยอีสาน,ไทยตาด) ขับเสภาตำนานข้าวจี่ นิทรรศการสินค้าพื้นเมือง อาหารพื้นเมืองจากเครือข่ายวัฒนธรรม รวมถึงการแสดงของหมอเหยา กลองกิ่ง กลองเส็ง เรียกว่ามางานนี้ที่เดียว นักท่องเที่ยวสามารถชมวัฒนธรรมของผู้อาศัยอยู่ จ.นครพนมครบทุกชนเผ่า
ซึ่งการจัดงานโฮม ฮอย ฮีตนครพนม  3 Gen ตุ้มโฮม 3 วัย ใส่ใจวัฒนธรรม เป็นการลงขันจากกลุ่มลูกหลานชาวนครพนม อาทิ ชมรมพนมนครานุรักษ์ ชมรมศรีโคตรบูรณ์ ชมรมฟ้อนรำบ้านใต้ กลุ่มสภากาแฟทุกวันเสาร์ของผู้สูงอายุ ฯลฯ รวมถึงอดีตข้าราชการจากจังหวัดอื่น ที่มารับราชการใน จ.นครพนม ภายหลังมีความผูกพันกับคนในพื้นที่ หลังเกษียณก็ไม่หวนกลับถิ่นเกิด เนื่องจากเคยนำโครงการดังกล่าวเสนอต่อผู้บริหารหลายแห่ง ก็ไม่ได้รับการตอบรับ แต่ด้วยความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนนครพนมโดยกำเนิด ต้องการเผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงาม ให้อนุชนรุ่นหลังร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน สร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ จึงมีมติตรงกันว่าต้องเดินหน้าต่อไป ด้วยการจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อหารายได้มาเป็นทุนในการจัดงานดังกล่าว
    โดยได้ร่วมกันหารายได้เป็นทุนจัดงาน ด้วยการจัดกิจกรรมร้องเพลงเปิดหมวก และจัดโต๊ะพาแลง(อาหารเย็น) ในวันที่ 8 กพ.67  มีอาหารจาก 9 ชนเผ่าบวกกับ 2 เชื้อชาติ(จีน-เวียดนาม) ที่อาศัยอยู่ใน จ.นครพนม ราคาโต๊ะละ 1,000 บาท รวมถึงการขอรับบริจาค เพื่อนำเงินที่ได้ช่วยเป็นค่าน้ำมันรถแก่วงดนตรีพื้นเมืองและนางรำที่มาร่วมงาน 
    ทั้งนี้ ข้าวจี่ทำมาจากข้าวเหนียวนึ่งสุก นำมาปั้นเป็นก้อนทาเกลือ ย่างไฟเกรียมแล้วก็เอาไข่ทา แล้วย่างซ้ำอีกจนสุกดี ก็จะได้ข้าวจี่ที่มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน โดยมีเรื่องเล่าตามความเชื่อว่า ในสมัยพุทธกาล นางปุณณะทาสี ได้ทำขนมแป้งจี่ถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์ ครั้นถวายแล้วนางคิดว่า พระองค์คงไม่เสวย อาจเอาทิ้งให้สุนัขหรือกากิน เพราะอาหารที่นางถวายไม่ประณีตน่ารับประทาน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบภาวะจิตของนางปุณณะทาสี  จึงรับสั่งให้พระอานนท์ปูอาสนะ แล้วทรงประทับนั่งฉัน  ณ  ที่นางถวายเป็นผลให้นางเกิดปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อนางได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็บรรลุโสดาบันปัตติผล ด้วยอานิงสงส์ที่ถวายขนมแป้งจี่ 
    จากเรื่องราวดังกล่าว ชาวอีสานได้นำมาเป็นคติความเชื่อว่า การถวายข้าวจี่นั้นจะได้อานิสงส์มาก ดังนั้นชาวอีสานรวมถึงชาวลาว จึงพากันยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เรียกว่าบุญข้าวจี่หรือบุญเดือนสาม จัดอยู่ในช่วงเดือนปลายเดือนมกราคมถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
//ภาพ-ข่าว//พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล//นครพนม (061-2838566)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น