วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2567

รองเลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการถอดบัญชีนกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองฯ พร้อมหารือการจัดแข่งขันนกกรงหัวจุกนานาชาติขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

      วันที่ 25 มกราคม 67 นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้าร่วมประชุมหารือร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพื้นที่ภาคใต้ สมาชิกวุฒิสภา ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตัวแทนชมรมนกกรงหัวจุก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนสมาคมอนุรักษ์เพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องการถอดบัญชีนกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) ออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ตามพระราชบัญญัติการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2549 ณ ห้องประชุมหมายเลข CA 301 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร
การประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากทางรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง (นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน) ได้รับข้อหารือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ภาคใต้ ที่ต้องการให้นกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เนื่องจากปัจจุบัน มีการเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นจำนวนมาก และเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการครอบครองและสถานภาพทางกฎหมายของนกกรงหัวจุกร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกชมรมนกกรุงหัวจุกและเครือข่ายนกกรงหัวจุกทั่วประเทศ เมื่อวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร และต่อมากลุ่มผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกได้ส่งรายชื่อผู้สนับสนุนให้ปลดล็อคนกกรงหัวจุกกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวนกว่า 110,000 รายชื่อ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงเป็นที่มาของการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวในวันนี้
     สำหรับการประชุมในวันนี้ ได้หารือประเด็นการทำงานครอบคลุมทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ตามที่ทุกฝ่ายมีข้อห่วงใย เพื่อที่จะปกป้องและคุ้มครองนกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) ตามธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดีและเป็นแนวทางสำคัญของรัฐบาลที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตตามศักยภาพของภูมิศาสตร์พืช-สัตว์เศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดีในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ในขั้นตอนการถอดบัญชีนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองฯ ทางกรมอุทยานแจ้งว่า ในขณะนี้อยู่ในขั้นของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครอง ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ โดยมีวาระแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อให้ไปศึกษาเกี่ยวกับสถานะของนกปรอทหัวโขน ก่อนจะนำไปพิจารณาถอดออกจากบัญชีฯ โดยที่ผ่านมา มีทั้งสิ่งที่ได้ดำเนินการล่วงหน้าไปแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ และจะดำเนินการต่อไปด้วย คือการศึกษาวิจัยโดยสถาบันการศึกษาในพื้นที่ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับนกปรอทหัวโขน อาทิ 1.การศึกษาขนาดประชากรในธรรมชาติของนกปรอทหัวโขนในปีปัจจุบัน 2. การสกัดกั้นการค้านกป่าอย่างผิดกฎหมายแบบมีส่วนร่วม 3. การฝึกอบรมการเพาะพันธุ์นกอย่างมืออาชีพ 4. การศึกษาเบื้องต้นเพื่อพัฒนาสูตรอาหารของนกปรอทหัวโขน 5. การส่งเสริมการผลิตกล้วยหินคุณภาพเพื่อเป็นอาหารนกปรอทหัวโขน 6. การสร้างสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของโรคในนกปรอทหัวโขน 7. การตรวจสอบยาเสพติดที่ใช้ในนกปรอทหัวโขนเพื่อยกระดับการแข่งขันนกปรอทหัวโขนตามมาตรฐานสากล 8. การสำมะโนประชากรนกปรอทหัวโขนในกรงเลี้ยงของ 5 จังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ 9. การค้นหาและการสร้างประชากรใหม่ในธรรมชาติของนกปรอทหัวโขนสายพันธุ์ใต้ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการวางแผนในอนาคตเกี่ยวกับการกำหนดวันจัดการแข่งขันนกกรงหัวจุกนานาชาติขึ้น ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2568 

ในท้ายของการประชุม ประธานการประชุมและภาคประชาชน ได้ขอบคุณรัฐบาล ขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ในฐานะกำกับดูแล ศอ.บต. และในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่ได้ผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระสำคัญตามข้อเสนอของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้ผลักดันมาตลอด 25 ปี โดยรองนายกสมศักดิ์ฯ ได้มีการสั่งการให้ ศอ.บต. ดำเนินการให้ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงการจัดทำแผนงาน แผนเงิน แล้วนำเข้าที่ประชุม กพต. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น