วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2567

รองเลขาธิการ ศอ.บต. ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจ กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส พร้อมประสานส่วนราชการและภาคเอกชนระดมสรรพกำลังเข้าให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูทั้งสภาพจิตใจ และบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย

    วันที่ 7 มกราคม 2567 นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยองค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียง จชต. (กลุ่มเสื้อเขียว) ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนให้กำลังใจกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ในพื้นที่ ตำบลบาโงสะโต อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากมวลน้ำป่าไหลหลากมาอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทันตั้งตัว และไม่คาดคิดว่าปีนี้จะหนักขนาดนี้ ทำให้บ้านเรือนและทรัพย์สินส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง 
     สำหรับข้อมูลพื้นฐาน ต.บาโงสะโต เป็นพื้นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก ทําสวนและทํานา ลักษณะภูมิอากาศในสภาวะปกติอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เนื่องจากพื้นที่ในเขตต.บาโงสะโตส่วนใหญ่ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมทําให้มีต้นไม้ให้ความชุ่มชื่นตลอดเวลา รวมทั้งไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ทําให้เกิดมลพิษในอากาศด้วย สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ และกระแสน้ำไหลหลากเข้ามาในหมู่บ้านอย่างรวดเร็วจนไม่ทั้นตั้งตัวขนาดนี้ ชาวบ้านเล่าว่าน่าจะเป็นน้ำที่มาจากภูเขาบริเวณใกล้เคียงที่เกิดฝนตกหนักสะสมมาหลายวัน และผู้สูงอายุในพื้นที่เล่าว่าปัจจุบันตนเอายุ 91 ปี ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน เป็นเหตุการณ์ที่เกือบคร่าชีวิตตนเองและครอบครัว ส่วนทรัพย์สินไม่ต้องพูดถึง หายไปกับน้ำต่อหน้าต่อตา
    นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวภายหลังจากกาารลงพื้นที่เยี่ยมบ้านต่าง ๆ ว่า “บ้านส่วนใหญ่ที่ไปในวันนี้ เป็นบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มากและหลายบ้านมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และเด็กเล็กด้วย มีบ้านหลังหนึ่งที่พบคือ คุณตาอายุ 80 ปี คุณยายอายุ 76 ปี อาศัยอยู่ ทั้งสองเหมือนอยู่ในสภาวะเครียด ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างปกติ โดยลูกสาวเล่าว่า ในขณะที่กระแสน้ำไหลมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ตากับยายต้องปีนหนีขึ้นไปอยู่บนหลังคา เนื่องจากจะอพยพออกจากบ้านก็ไม่ทัน พออยู่บนหลังคาไปสักพัก ด้วยมวลน้ำที่ไหลมารวดเร็วและสูงขึ้นทำให้พัดบ้านไปกับน้ำ ตายายที่อาศัยอยู่บนหลังคาก็ลอยไปกับน้ำด้วย จากนั้นมีลูกหลานมาพบเห็นจึงกระโดดลงไปช่วยแบบไม่คิดถึงชีวิตตัวเอง เพราะหากปล่อยไปคิดว่าเสี่ยงที่สุด ที่ตากับยายจะหายไปกับน้ำได้ ภายหลังที่ได้รับฟังแล้ว ได้มีการประสานไปยังหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อขอให้มีการลงมาประเมินสภาพจิตใจ และดูแลรักษาต่อไป เนื่องจากหากมีการปล่อยไปแบบนี้ อาจจะส่งกระทบทางด้านจิตใจและการใช้ชีวิตในระยะยาวได้ โดยเบื้องต้นทีมสุขภาพจิต ของโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ และทีมสาธารณสุขในพื้นที่ จะนำทีมเข้ามาเยี่ยมเยียนและดำเนินการตามขั้นตอนการประเมินสุขภาพจิตใจในเช้าวันพรุ่งนี้“
       ด้วย กะนะห์ หนึ่งในชาวบ้านในพื้นที่ได้พูดขึ้นระหว่างการลงพื้นที่ว่า “ขอสื่อสารไปยังทุกท่านว่า ขอขอบคุณทุก ๆ ท่าน รวมทั้งประชาชนด้วยกันทั้งจากต่างพื้นที่ และพี่น้องประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่ได้ร่วมกันมาให้กำลังใจและช่วยเหลือ ในช่วงวันแรก ๆ ที่ทุกคนยังไม่ทันตั้งตัว ทำให้ขาดแคลนอาหารกินบ้าง แต่วันต่อ ๆ มา ได้รับการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน ทั้งอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ได้ทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ อย่างไม่ขาดสาย ท่ามกลางความยากลำบากและความหดหู่ที่ได้สูญเสียบ้านไปแบบนี้ แต่อย่างน้อยได้เห็นถึงความมีเมตตาของผู้คนไม่ทอดทิ้งให้ตนและพี่น้องในพื้นที่เศร้าโศกเสียใจ ตนและคนในพื้นที่ได้รับกำลังใจมาอย่างล้นหลานมากมาย ไม่มีอะไรจะตอบแทนกลับไปได้ นอกจากการขอขอบคุณด้วยจากใจจริง“
      สำหรับการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย โดยเฉพาะที่เสียหายทั้งหลัง ศอ.บต.ได้หารือกับทั้งส่วนราชการและภาคเอกชน อาทิ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากสภากาชาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยทหารพัฒนา มูลนิธิเอสซีจี และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะระดมสรรพกำลังเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการสร้าง ซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น