วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2567

ม.อ. ผนึก สสส. จัดโครงการสื่อสารรณรงค์ ลดปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน 5 วิทยาเขตภาคใต้

          มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี พร้อมด้วย นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รศ. ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ หัวหน้าโครงการฯ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการสานพลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รณรงค์และจัดการความรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีประชาชนทั่วไป ผู้แทนชุมชน บุคลากร และนักศึกษาเข้าร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567
       ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการ บดี กล่าวว่า โครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายและทิศทางของมหาวิทยาลัย ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้านปัจจัยเสี่ยง อุบัติเหตุ บุหรี่ และแอลกอฮอล์ ให้กับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ผู้คนมีสุขภาพดี และส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับคนทุกวัยให้เป็นไปตามค่านิยมหลัก คือ มีความเป็นมืออาชีพ ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเป็นหนึ่งเดียวกัน สืบสานปณิธานที่ยึดถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง โดยมหาวิทยาลัยได้กำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและสังคมที่สำคัญ
      “มหาวิทยาลัยมีนโยบายที่สำคัญ 8 ด้าน คือ การสนับสนุนการทำงานทางด้านวิชาการ โดยการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนการลดปัจจัยเสี่ยงระดับนโยบายของมหาวิทยาลัย การพัฒนากลไกจัดการปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบมหาวิทยาลัยครอบคลุมทั้ง 5 วิทยาเขต การรณรงค์และสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการสื่อสารรณรงค์ลดพฤติกรรมเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและประชาชนในชุมชนเป้าหมาย การประกาศนโยบายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่และจัดเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ นำไปสู่การพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน การสนับสนุนระบบการขนส่งรถสาธารณะในมหาวิทยาลัยเพื่อลดการใช้รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ส่วนตัว การปรับสภาพถนนและสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้ปลอดภัย การสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ และการร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างกลไกให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้นแบบการจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ และปัจจัยเสี่ยงสังคม”
ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีการจัดเก็บสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน มีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ด้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้านั้น แม้ผู้ตอบส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ได้สูบบุหรี่ แต่มีอยู่ประมาณ 5% ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบของพอต ที่หน้าตาเหมือนของเล่น และแบบแท้งค์น้ำยา ส่วนใหญ่หาซื้อเอง ส่วนการสูบบุหรี่มวน มีทั้งสูบตั้งแต่ 2 - 5 มวนต่อวัน ไปจนถึง 11 - 20 มวนต่อวัน ด้านอุบัติเหตุนั้นพบข้อมูลที่คล้ายคลึงกัน คือผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อค อยู่ระหว่าง 24% - 47.1% ส่วนคนซ้อนไม่สวมหมวกกันน็อค อยู่ระหว่าง 17.6% - 44.6% สะท้อนว่าการสวมหมวกกันน็อคลดลงเรื่อย ๆ ส่วนประเด็นแอลกอฮอล์นั้นพบว่าพฤติกรรมการดื่ม 37.2% จะดื่มที่บ้านตัวเองและที่พัก รองลงมา 33.5% ดื่มในงานเลี้ยงและงานเทศกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น