วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“พิพัฒน์” รมว. แรงงาน มอบ บุญสงค์ เลขาธิการ สปส. รุดช่วยเหลือคนงานก่อสร้างประสบเหตุถูกแท่งคานคอนกรีตสะพานข้ามแยกสนามบินกระบี่ หล่นทับขาขาด 2 ข้าง ให้ได้รับสิทธิเต็มที่

        ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์คานคอนกรีตสะพานข้ามแยกสนามบินจังหวัดกระบี่ น้ำหนักกว่า 45 ตัน หล่นลงมาทับคนงานก่อสร้าง อาการสาหัส เป็นเหตุให้ขาทั้ง 2 ข้างขาด เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใย พร้อมสั่งการด่วนให้ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ตรวจสอบและให้การช่วยเหลือคนงานที่ประสบอุบัติเหตุ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนอย่างเต็มที่ 
         ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้นางสาวสุมณฑา พลคง ประกันสังคมจังหวัดกระบี่ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และสถานที่เกิดเหตุเป็นโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกสนามบินจังหวัดกระบี่ ตำบลเหนือคลอง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ คนงานที่ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัส ชื่อ นายตุลา สวัสดิรักษ์ เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ลูกจ้างของบริษัท ฟิวเจอร์ ฟาวน์เคชั่น จำกัด ขณะเกิดเหตุ นายตุลา กำลังเคลื่อนย้ายเครื่องมือและอุปกรณ์ในการเจาะเสาเข็มออกจากพื้นที่ เพราะคานคอนกรีตถูกติดตั้งเรียบร้อยแล้วพร้อมปูพื้นถนน จะย้ายจุดทำงาน ระหว่างนั้นรถแบ๊กโฮของบริษัทเจาะเสาเข็ม ขับเข้าไปใต้สะพาน ทำให้แขนของรถแบ๊กโฮขึ้นไปกระแทกกับแท่นคานจนร่วงหล่นมาทับขาของนายตุลา จนได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้ง 2 ข้าง เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำตัวส่งโรงพยาบาลกระบี่อย่างเร่งด่วน ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษา และตัดขาทั้ง 2 ข้าง 
        ในวันที่ 30 มกราคม 2567 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้มอบหมายให้นางสาวสุมณฑา พลคง ประกันสังคมจังหวัดกระบี่ พร้อมเจ้าหน้าที่ ร่วมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกระบี่ และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 8 (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมและเข้าเยี่ยมนายตุลา สวัสดิรักษ์ เพื่อให้กำลังใจ พร้อมชี้แจงสิทธิประโยชน์ โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน  ดังนี้
          1. ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง 
          2. ค่าทดแทนตามมาตรา 18(1) กรณีลูกจ้างหยุดงานไม่สามารถทำงานได้ โดยได้รับค่าทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ตามจำนวนวันที่แพทย์ให้หยุดงานจนสิ้นสุดการรักษา 
          3. ค่าทดแทนตามมาตรา 18(3) กรณีที่ลูกจ้างทุพพลภาพ ได้รับค่าทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ตลอดชีวิต
          นายบุญสงค์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ตนอยากให้ลูกจ้างและนายจ้าง ตระหนักถึงความสำคัญและสิทธิความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้มอบให้กับลูกจ้าง เพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ให้ได้รับความคุ้มครองแรงงานในยามประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานอย่างทั่วถึง เพื่อให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 (ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น