วันที่ 13 พ.ย.66 นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานในพิธีกล่าวต้อนรับผู้แทนจาก 75 ประเทศสมาชิก ITTO ในการประชุมสภาองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 59 (59 Session of the International Tropical Timber Council: ITTO59) ที่โรงแรมดุสิตธานีพัทยา จ.ชลบุรี โดยมี นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เข้าร่วมพิธี
ด้วยกรมป่าไม้ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมสภาองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 59 (59 Session of the International Tropical Timber Council: ITTO59) ระหว่างวันที่ 13 - 17 พฤศจิกายน 2556 โดยเลือกเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่จัดการประชุม ด้วยมีศักยภาพความพร้อมในการจัดการประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ (International Tropical Timber Organization) กว่า 75 ประเทศ เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาการผลิตและการค้าไม้เขตร้อนอย่างยั่งยืน โดยกำหนดกรอบการทำงานเพื่อให้การดำเนินงานและการพัฒนานโยบายระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจไม้ของโลกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยได้รับการสนับสนุนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ จาก ITTO มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสำรวจทรัพยากรป่าไม้, โครงการฟื้นฟูด้านป่าไม้ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ, โครงการจัดการผืนป่าอนุรักษ์สามเหลี่ยมมรกต เพื่อการส่งเสริมความร่วมมือในการอนุรักษ์ความหลากลายทางชีวภาพข้ามเขตแดนระหว่างประเทศไทย กัมพูชา และลาว, โครงการพัฒนาเกณฑ์และตัวชี้วัดการจัดการสวนป่าและป่าชุมชนอย่างยั่งยืน, โครงการไม้สัก เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และการจัดการที่ยั่งยืนของป่าไม้สักและห่วงโซ่อุปทานไม้ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 และโครงการส่งเสริมการผลิตไม้ที่มีคุณภาพโดยเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกไม้สักและไม้มีค่าชนิดอื่นๆ ในเขตร้อน เป็นต้น
นอกจากการประชุมฯ แล้ว กรมป่าไม้ยังได้กำหนดให้มีการศึกษาดูงาน ที่ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานของไม้ ซึ่งครอบคลุมระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ไทย ครอบคลุมการจัดการสวนป่าระบบควบคุมการเคลื่อนย้ายของสินค้าไม้ (Chain of Custody: CoC) ด่านป่าไม้ และการนำเข้า - ส่งออก ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของไทย ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นการสร้างความร่วมมือด้านการป่าไม้ระหว่างประเทศ ในระดับภูมิภาค สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานตามเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ BCG Model ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น