วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้การรับรองเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป


         5 ต.ค. 66 เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์  มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรองนายเดวิด  เดลี (H.E. Mr. David  Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความยินดีกับประธานรัฐสภา ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยมี นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายคัมภีร์  ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายธงชาติ  รัตนวิชา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นางฟารีดา  สุไลมาน คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ดร. มีชัย  ออสุวรรณ คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายอาพล นันทขว้าง ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมให้การรับรอง


ประธานรัฐสภา กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตฯ และทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในหลายประเด็น ได้แก่ สหภาพยุโรปกับการมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก อันสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่กลุ่มประเทศอาเซียนได้ นอกจากนั้น ประธานรัฐสภายังได้หารือเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในการประชุม โดยเอกอัครราชทูตฯ  ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ภาษาทางการที่ใช้ในการประชุมสภายุโรป มีจำนวน 24 ภาษา ซึ่งล้วนเป็นภาษาทางการของประเทศสมาชิก ทั้งนี้ ความหลากหลายทางภาษาดังกล่าวเป็นหลักการปกติของวิธีประชาธิปไตย เนื่องจากการสื่อสารด้วยภาษาของตนเอง จะทำให้ผู้แทนของแต่ละประเทศสามารถถ่ายทอดนโยบาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศตนได้มากที่สุด เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องความหลากหลายด้วยว่า ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จำนวน 27 ประเทศ มีนโยบายและแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างหลากหลายเช่นเดียวกับภาษาที่ใช้ โดยสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองมิใช่ผู้แทนของประเทศ


สำหรับประเด็นความร่วมมือ สหภาพยุโรปต้องการกระชับความสัมพันธ์ในระดับรัฐสภากับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันความสัมพันธ์ของสองประเทศมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก โดยรัฐสภาไทยมีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพฯ ในระดับทวิภาคีกับหลายประเทศในยุโรป ทั้งในกรอบความตกลงต่าง ๆ รวมถึงการทำความตกลงเขตการค้าเสรี  (Free Trade Area-FTA) ระหว่างกัน ซึ่งกำลังมีการหารือกันในหลาย ๆ ด้าน เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) การพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งสหภาพยุโรปได้ติดตามการทำงานของรัฐสภาไทย การแก้ไขกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด รวมถึงการสานต่อการเจรจาความตกลงต่าง ๆ ที่คั่งค้าง โดยเฉพาะกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement : PCA)  ซึ่งได้มีการลงนามแล้วในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรปสมัยพิเศษ (ASEAN-EU Commemorative Summit) 


ในตอนท้าย เอกอัครราชทูตฯ ยินดีหารือในทุกประเด็นทั้งในระดับทวิภาคี ระดับอาเซียน และระดับโลก และได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุยิงภายในศูนย์การค้า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 โดยประธานรัฐสภากล่าวว่ารัฐบาลไทยมีการดูแลผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างดี และหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวเอกอัครราชทูตฯ ให้ข้อมูลเรื่องกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยของคณะผู้แทนสภายุโรปจำนวน  2 คณะ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยประธานรัฐสภาเห็นถึงความเหมาะสมของช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากเป็นช่วงเปิดสมัยประชุมสภาของประเทศไทย และทั้งสองฝ่ายหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐสภาไทยและสภายุโรปจะได้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากการเดินทางเยือนที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า เอกอัครราชทูตฯ ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป  จะมีการหารือร่วมกันทุกเดือน หากมีโอกาสขอเชิญประธานรัฐสภาร่วมหารือด้วย ซึ่งอาจจัดให้มีการประชุมหารือที่รัฐสภาได้ตามที่เห็นสมควร


#วันมูหะมัดนอร์มะทา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น