(3 พฤษภาคม 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานจากห้องประชุมโรงแรมอัลมีรอซ รามคำแหง กรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเวลา 19.00 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมากล่าวปาฐกถาพิเศษ พิธีปิดงานสัมมนาการเงินอิสลามประเทศไทย Thailand Islamic Finance Forum 2024 (TIFF 2024) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ บารู ประธานกรรมการเครือข่ายสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย นำคณะผู้จัดงานฯ ให้การต้อนรับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 250 คน จากผู้บริหารสหกรณ์อิสลามจากทั่วประเทศ ผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยผู้บริหารกลุ่มบริษัทประกันตะกาฟุล ผู้บริหารและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ผู้บริหารองค์กรด้านการเงินอิสลามในกลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มนักธุรกิจ ส่วนราชการ รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป
สำหรับงานสัมมนาการเงินอิสลามประเทศไทย Thailand Islamic Finance Forum 2024 (TIFF 2024) มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน และสหกรณ์อิสลาม การร่วมกำหนดทิศทางและนโยบายการดำเนินงานตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการเงิน และสหกรณ์อิสลามทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการเติบโตและการขยายตัวอย่างมั่นคง สร้างความมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน จากกระทรวงยุติธรรม ได้แก่ 1.) กรมบังคับคดี ในฐานะรับผิดชอบคดีแพ่งจาการกู้ยืมและสัญญาทางการเงินต่างๆ ซึ่งปี 2566 เรามีคดีแพ่งกว่า 1.5 ล้านคดี 2.) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ 3.) สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center: THAC) เป็นสถาบันฯ ที่ให้บริการด้านการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาท ร่วมในงานสัมมนานี้ด้วย
สำหรับประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับคือ ระบบการเงินที่ส่วนการเงินฐานคุณธรรมยังมองเห็นได้ไม่ชัดเจน และแม้จะมีสหกรณ์หลายประเภทก็ตาม ซึ่งมีการผลักดันสหกรณ์รูปแบบใหม่ ด้วยเทคนิคทางกฎหมายเปลี่ยนแปลงบางถ้อยคำโดยใช้ชื่อเป็น "สหกรณ์ ปลอดดอกเบี้ย" ด้วยหวังจะทำให้บริบทของพี่น้องมุสลิมมีพื้นที่ทางการเงินเกิดความสบายใจ และจะสามารถพัฒนาออกไปมากมาย นอกจากนี้ ยังมี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีการแก้ไขกฎหมายให้การชำระของลูกหนี้ ลดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และเปลี่ยนหลักการให้การใช้หนี้ มีการหักเงินต้น คิดเบี้ยปรับลดลง ทั้งนี้ เชื่อว่าการศึกษาทำให้คนมีความคิดและปัญญา แต่สิ่งสำคัญวันนี้ คือ หนี้ กยศ. กลับเป็นภาระของสังคม ซึ่งเราได้เร่งดำเนินการแก้ไข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระบบการเงินอิสลาม ต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมายอิสลาม หรือหลักชะรีอะฮ์ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจหรือธุรกรรมที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์ ที่เกี่ยวกับการให้ทำได้ (หะลาล) และการห้าม (หะรอม) ซึ่งข้อห้ามหลักในการทำธุรกรรมสำหรับการเงินอิสลาม คือ ห้ามริบา (Riba) หรือดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบ และซ้ำเติมลูกหนี้ ระบบการเงินอิสลามจึงใช้ระบบแบ่งปันผลกำไรขาดทุน (profit and loss sharing) แทนระบบดอกเบี้ย หมายถึงทั้งฝ่ายธนาคาร ผู้ฝากเงิน ทุกฝ่ายมีความเสี่ยงร่วมกัน
แนวคิดของระบบการเงินอิสลาม เป็นเรื่องของคนที่มีกำลังมากกว่าสนับสนุนคนที่มีกำลังน้อยกว่า ไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ย เรื่องหลักคือการทำให้คนแข็งแรง ความแข็งแรงของคน ของชุมชน เป็นส่วนสำคัญในการพยุงและยกระดับสังคม เป็นระบบการเงินที่อยู่บนพื้นฐานของของความยุติธรรมและเป็นธรรม (justice & fairness) ซึ่งก็คือหลัก ESG นั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น