เมื่อวันที่ 25 – 26 เมษายน 2567 ที่โรงแรมต้นอ้อย แกรนด์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อการจัดการเรียนการสอนสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา (กิจกรรมครั้งที่ 2) เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนและบุคลากรด้านการศึกษาสามารถบูรณาการเรื่องสิทธิมนุษยชนไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำหลักสูตร เนื้อหารายวิชา และออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา โดยมี ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไพโรจน์ พลเพชร นายพิทยา จินาวัฒน์ นางสาวมณีรัตน์ มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นวิทยากรให้ความรู้ ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวมีกำหนดการดังนี้
วันที่ 25 เมษายน 2567 นางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์และการดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จากนั้น ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดโครงการว่า เป็นการขับเคลื่อนกิจกรรมตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) กับสถาบันวิชาการในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 6 สถาบัน ประกอบด้วย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีกิจกรรมให้ความรู้หัวข้อ ดังนี้ 1) สิทธิทางการศึกษา บทบาทของบุคลากรในสถานศึกษาต่อสิทธิมนุษยชนและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในสถาบันอุดมศึกษา 2) หลักสิทธิมนุษยชนสากลและกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน บริบทของสิทธิมนุษยชนกับความมั่นคงจากระดับสากลสู่การเรียนการสอนในพื้นที่พหุวัฒนธรรม และ3) กิจกรรมระดมความคิดเห็นตามกรณีศึกษาในหัวข้อหลักสิทธิมนุษยชนสากลและกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน บริบทของสิทธิมนุษยชนกับความมั่นคงจากระดับสากลสู่การเรียนการสอนในพื้นที่พหุวัฒนธรรม และกิจกรรมระดมความคิดเห็นตามกรณีศึกษา
กิจกรรมในวันที่ 26 เมษายน 2567 เป็นการเสริมสร้างความรู้เรื่องสิทธิชุมชน สิทธิในที่ดิน และความเหลื่อมล้ำ/ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)
และในช่วงท้ายของการอบรม เป็นการระดมความคิดเห็น เพื่อให้อาจารย์ผู้สอน และบุคลากรด้านการศึกษาได้นำความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักในหลักการสิทธิมนุษยชนและกรณีศึกษา ไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำหลักสูตร เนื้อหารายวิชา และออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาตามรายวิชาที่ผู้เข้าอบรมรับผิดชอบได้ โดยสำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคใต้ จะได้ติดตาม สนับสนุนการจัดทำหลักสูตร/รายวิชา สำหรับผู้เข้ารับการอบรม และสรุปผลการจัดโครงการฯ รายงานต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อทราบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น