วันนี้ 2 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องประชุม CEO ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วงคาบสมุทรสทิงพระ โดยมี นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางสาวดุษฎี พฤกษเศรษฐ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา นางสาวสุนารี บุญชุบ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ตลอดจนนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้รายงานสถานการณ์ฝนในพื้นที่จังหวัดสงขลาว่า ลักษณะของลมช่วงนี้ เป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดเข้ามาปกคลุม ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดฝน โดยเฉพาะ 4 อำเภอคาบสมุทรสทิงพระ ตั้งแต่ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคร จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่วันที่ 6-8 พฤษภาคม 2567 และจะกระจายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย หลังจากนั้นจะลดลง และฝนจะตกอีกครั้งประมาณวันที่ 14-16 พฤษภาคม 2567 คาดว่าเพียงพอที่จะบรรเทาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรของพี่น้องประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น
จากนั้นที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้สั่งการให้ดำเนินการประเมิน สำรวจสถานการณ์ และวิธีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร พบว่า น้ำในลำคลองลดลงอย่างมากจนน้ำแห้ง ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร ซึ่งไม่สามารถสูบน้ำจากคลองในพื้นที่ได้เนื่องจากมีปริมาณค่าน้ำเค็มสูง ในส่วนคลองพลเอกอาทิตย์ ซึ่งเป็นคลองสายหลักสำหรับใช้ในการเกษตรของพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ก็ประสบปัญหาการเส้นทางน้ำไหล เนื่องจากอยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนประกอบกับมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยได้ประสานไปยังสำนักงานชลประทานที่ 16 ดำเนินการขุดลอกแล้ว ปรากฎว่ามีน้ำไหลบางส่วน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการทำภาคเกษตรของพี่น้องประชาชนที่ต้องใช้น้ำค่อนข้างมาก ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เน้นย้ำว่า น้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนต้องอย่าให้ขาด ส่วนน้ำสำหรับใช้เพื่อการเกษตร หากหมดต้องเอาน้ำจากที่อื่นไปเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุด
โดยที่ประชุมได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและการให้ความช่วยเหลือ และได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทานที่ 16 เร่งขุดคูระบายน้ำ เพื่อเปิดเส้นทางน้ำสู่คลองพลเอกอาทิตย์ให้เพียงพอต่อในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรของพี่น้องเกษตรกร พร้อมนำเครื่องสูบน้ำเพื่อเติมน้ำให้เพียงพอต่อการใช้สำหรับการทำเกษตร ทั้งนี้ได้แจ้งนายอำเภอประสานไปยังพื้นที่เพื่อขอความร่วมมือให้ใช้น้ำตามความจำเป็นเพื่อจะได้บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น