วันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 น. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ จังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมพร้อมมอบนโยบายหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน จังหวัดสงขลา โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่หน่วงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลา ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมสำนักงานประกันสังคม จังหวัดสงขลา
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงพื้นที่มาพบปะหารือกับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลาในวันนี้ ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบให้มีรายได้ มีทักษะฝีมือ ได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานสากล และมีหลักประกันทางสังคม รวมถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ประกอบกับรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
กระทรวงแรงงานจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแรงงานในพื้นที่จังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลางในการผลิตแรงงานคุณภาพสำหรับภาคใต้ตอนล่างด้วย เพื่อให้แรงงานสามารถทำงานในบ้านเกิดของตนเองหรือจังหวัดข้างเคียง การลงพื้นที่ในวันนี้ผมจึงขอให้หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลา
ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายรัฐบาล ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ขอให้เป็นหน่วยงานหลักในการสำรวจข้อมูลประเภทกิจการด้านการท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่มีรายได้สูงจากการท่องเที่ยว โดยให้ศึกษา วิเคราะห์ ทบทวน และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน เช่น อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายจำเป็น เป็นต้น ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เพื่อให้มีงานทำ มีรายได้ มีหลักประกันทางสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความเหลื่อมล้ำในการสร้างความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. .... รวมทั้งขอให้บูรณาการการทำงานร่วมกับอาสาสมัครแรงงานและบัณฑิตแรงงานในการให้บริการประชาชนด้านแรงงานอย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชน และให้ความช่วยเหลือดูแลแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอลให้ได้รับการเยียวยาอย่างครบถ้วน
“ในส่วนของกรมการจัดหางานนั้น กระทรวงแรงงานมีเป้าหมายในการส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ 100,000 อัตรา ภายในปี 2567 โดยเน้นมาตรการรักษาตลาดแรงงานเดิมและขยายตลาดแรงงานใหม่ รวมทั้งการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขอให้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อให้มีสมรรถนะสูงและมีมาตรฐานฝีมือ ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ขณะเดียวกันต้องเตรียมความพร้อมหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทย เช่น หลักสูตรอาหารไทย หลักสูตรนวดแผนไทย เป็นต้น เพราะหลักสูตรเหล่านี้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการให้ปัจจุบัน” นายไพโรจน์ กล่าว
นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ผมขอให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงาน ตรวจการทำงานของแรงงานในระบบ แรงงานประมงทะเล แรงงานหญิง แรงงานเด็ก และกลุ่มเปราะบาง ตลอดจนสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยงที่มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานต่างด้าว แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เช่น กิจการเกี่ยวเนื่องประมงทะเล กิจการผลิตสินค้าจากอ้อย เครื่องนุ่งห่ม กุ้ง ปลา เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว จะต้องบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านการค้ามนุษย์และกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานประมงทะเลอย่างเข้มงวดในการตรวจแรงงานประมงทะเลที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า - ออก (PIPO) โดยต้องให้มีชุดตรวจเรือที่ประกอบด้วยพนักงานตรวจแรงงานและเจ้าหน้าที่ประสานงานด้านภาษา (ล่าม) ทุกครั้ง ตลอดจนส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
นายไพโรจน์ ยังได้เน้นย้ำให้สำนักงานประกันสังคม มุ่งสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบโดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แรงงานนอกระบบได้เข้าสู่ความคุ้มครองตามมาตรา 40 เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายและให้เขาได้ส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งรัดติดตามหนี้ค้างชำระ โดยให้มีแนวปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และสุดท้ายสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ (สสปท.) ขอให้ส่งเสริมการบริหารจัดการความปลอดภัยฯ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ไปสู่มาตรฐานสากล โดยประสานงานกับเครือข่ายความปลอดภัยในภาคใต้ เพื่อที่จะสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ส่งเสริมงานด้านวิชาการให้สถานประกอบกิจการสามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและลดความสูญเสียเป็นศูนย์ได้
“ผมขอขอบคุณหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลา ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ภารกิจกระทรวงแรงงาน อย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ และมีส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของจังหวัดสงขลาให้เจริญเติบโต เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่าง และศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้แรงงานและประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป ”นายไพโรจน์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น