วันที่ 24 มีนาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุระเบิดภายในโรงงานแก๊สในประเทศไต้หวันเมื่อวานนี้ (23 มี.ค.67) จนทำให้แรงงานไทยได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตว่า ทันทีที่ทราบข่าวผมขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและขอส่งกำลังใจให้ผู้ได้รับบาดเจ็บหายจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว กระทรวงแรงงานมีความห่วงใยต่อแรงงานไทยทุกคนที่ไปทำงานอยู่ในต่างประเทศ กรณีดังกล่าวผมได้รับรายงานจากนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานว่า ได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง ตรวจสอบข้อมูลของแรงงานไทยที่บาดเจ็บและเสียชีวิต เยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า จากรายงานของนายณัฐชยวัศ สงวนไชยกฤษณ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง พบว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม เวลาประมาณ 08.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ได้เกิดเหตุแก็สระเบิดภายในโรงานเจียเฟิงดูมิเนียม ตำรวจไต้หวันได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 6 ราย และแรงงานไทยเสียชีวิต 2 ราย สาเหตุการระเบิดคาดว่าเกิดขึ้นในระหว่างการเติมแม่พิมพ์ ระบบควบคุมการทำงานผิดปกติและระบบหล่อเย็นไม่เพียงพอ ทำให้น้ำลันผัสกับอลูมิเนียมเหลวจนเป็นเหตุให้เกิดการระเบิดขึ้น ส่วนสาเหตุที่แน่ชัดทางการไต้หวันจะสืบสวนหาสาเหตุต่อไป
“จากรายงานของอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) เมืองเกาสง ยังพบว่า โรงงานดังกล่าวมีแรงงานไทยรวมทั้งสิ้น 11 คน อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทจัดหางานไทยไต้หวัน ช่วงเกิดเหตุมีแรงงานไทยที่เข้าทำงานจำนวน 5 คน ในจำนวนนี้ มีแรงงานที่เสียชีวิตจำนวน 2 ราย รายแรกอายุ 37 ปี ภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษ รายที่ 2 อายุ 46 ปี เป็นชาวจังหวัดชัยภูมิ และแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 3 ราย รายแรกอยู่ระหว่างการผ่าตัดและรักษาตัวที่โรงพยาบาลเฉิงต้า เมืองไถหนาน รายที่ 2 บาดเจ็บเล็กน้อยขณะนี้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว และรายที่ 3 รักษาตัวที่โรงพยาบาลในเมืองเกาสง” นายพิพัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดเหตุ ในส่วนของการดำเนินการที่เกาสง ผมได้รับรายงานว่า สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลแรงงานไทย และเข้าเยี่ยมแรงงานไทยที่บาดเจ็บและพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล พร้อมประสานงานกับบริษัทจัดหางานไต้หวัน เบื้องต้นทราบว่า บริษัทจัดหางานไต้หวันได้ประสานบริษัทจัดหางานไทยแจ้งญาติของแรงงานที่เสียชีวิตทราบแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานแรงงานไทยในไต้หวันจะดำเนินการดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานกรณีดังกล่าวต่อไป
“ผมขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและขอส่งกำลังใจให้ผู้บาดเจ็บทุกราย
ให้หายจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือทั้งในส่วนที่ไต้หวันได้มีการกำชับให้ทูตแรงงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่แรงงานพึงได้รับตามกฎหมาย ส่วนที่ประเทศไทยปลัดกระทรวงแรงงานก็ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาให้ญาติทราบ ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่า กระทรวงแรงงานจะให้การคุ้มครอง ดูแล พี่น้องแรงงานไทยที่เสียชีวิตหรือประสบอันตรายในการไปทำงานต่างประเทศตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด” นายพิพัฒน์ กล่าวท้ายสุด
ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ประเทศไทยผมได้สั่งการให้กรมการจัดหางานตรวจสอบสถานะสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นสมาชิกกองทุนฯ 1 ราย และผู้บาดเจ็บเป็นสมาชิกกองทุนฯ 2 ราย โดยแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์เยียวยาจากกองทุน กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทย รายละ 15,000 บาท กรณีบาดเจ็บมีการรับรองจากแพทย์ว่าทุพพลภาพ จะได้รับการสงเคราะห์ เป็นจำนวน 30,000 บาท และกรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ จะสงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่าง ประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท นอกจากนี้ ผมยังได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ ชัยภูมิ สกลนคร หนองบัวลำภู และอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อลงพื้นที่เยี่ยมบ้านแจ้งข้อมูลข่าวสารปลอบขวัญให้กำลังใจ พร้อมชี้แจงการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทั้งจากการเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่พึงได้รับตามกฎหมายให้แก่ญาติทราบและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์โดยเร็ว
ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังได้เน้นย้ำสำหรับแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการคุ้มครอง และสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จะได้รับการดูแลสิทธิประโยชน์หากประสบอันตราย หรือประสบปัญหาเหมือนเช่นกรณีดังกล่าว ซึ่งสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น