วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

พิพัฒน์ รมว.แรงงาน โว ส่งออกแรงงาน 2 เดือนแรก เกือบ 3 หมื่นคน คาดทั้งปีมีหลักแสน จับมือ 144 เอเจนต์ ส่งทำงานสวัสดิการดี รายได้สูง

       วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ประจำปี 2567 โดยมีคณะผู้บริหารฝ่ายการเมือง พร้อมด้วยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติ นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวรายงาน สมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ สมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย และผู้รับอนุญาตจัดหางาน เพื่อไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 144 บริษัท ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน 
โดยนายพิพัฒน์ฯ เปิดเผยว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงแรงงาน ในปี 2567 ด้าน “มีงานทำ” ที่มอบไว้ให้กรมการจัดหางาน คือ การมุ่งสู่เป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา ภายในปี 2567 ล่าสุดมีความคืบหน้าจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศแล้ว จำนวน 29,399 คน และเพื่อเดินหน้าตามเป้าหมาย ทิศทางปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่ “มาตรการรักษาตลาดแรงงานเดิม” ในประเทศที่มีการจัดส่งแรงงานไทยอยู่แล้ว โดยการสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มแรงจูงใจการจ้างแรงงานไทยของนายจ้าง เพื่อเพิ่มจำนวนความต้องการรับแรงงานไทย การกระชับความสัมพันธ์ทั้งภาครัฐ และภาคีเครือข่ายภาคเอกชนระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านการจัดส่งแรงงานร่วมกัน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานของแรงงานไทยในต่างประเทศให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ ซึ่งในเร็ววันนี้จะเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลี ประเทศที่คนไทยต้องการไปทำงานมากที่สุด เพื่อเจรจาเพิ่มโควตาโครงการ EPS (วีซ่า E-9) ในสาขาอุตสาหกรรมภาคบริการ เจรจาปรับข้อจำกัดด้านอายุ เพิ่มโอกาสให้แรงงานสูงอายุและมีประสบการณ์ทำงานสูง เจรจาเพิ่มสัดส่วนการจ้างแรงงานเพศหญิง หารือขยายตลาดแรงงานทักษะฝีมือ (วีซ่า E-7)  กับผู้ประกอบกิจการอู่ต่อเรือ อาทิ บริษัทในเครือ Hyundai บริษัท Samsung และบริษัท Hanwha Ocean และหากมีความเป็นไปได้จะหารือเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าร่วมมือด้านการจัดส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาล กับอำเภออื่นๆ ของสาธารณรัฐเกาหลีต่อไป และจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อเจรจาขยายตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม บริการด้านอาหาร และบริการโรงแรม และหารือเพื่อเข้าร่วมกับองกรร์ผู้รับในประเทศญี่ปุ่น เปิดโอกาสให้แรงงานไทยไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น นอกจากนี้จะดำเนินการควบคู่กับ “มาตรการแสวงหาตลาดแรงงานใหม่” ในประเทศที่กำลังขาดแคลนแรงงาน หรือประเทศที่มีแนวโน้มการจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น เน้นไปทางแถบทวีปยุโรป อาทิ ออสเตรเลีย อิตาลี โปรตุเกส เป็นต้น 
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ นอกจากความทุ่มเทของกรมการจัดหางานแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ สมาคมนายจ้างส่งเสริมแรงงานไทย และผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศทั้ง 144 แห่ง แสวงหาแนวทางร่วมกันในการส่งเสริม สนับสนุนแรงงานไทย  
“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผมขอขอบคุณผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศแทนแรงงานไทย ที่ทุกท่านจัดหางานอย่างมีจริยธรรม ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน และให้ความสำคัญกับประโยชน์สูงสุดของแรงงานไทย วันนี้เราทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันในการผลักดันแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างมีคุณภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
       ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การประชุมมอบนโยบายด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ประจำปี 2567 ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเชิญสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 144 บริษัท ผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศผ่านช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในภารกิจการจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ มาร่วมกันหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้การจัดส่งแรงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ตามนโยบายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา ภายในปี 2567 ที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบไว้ โดยแรงงานไทยต้องได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ และการคุ้มครองที่เหมาะสม รวมทั้งวางแนวทางคงมาตรฐานคุณภาพแรงงานไทย พร้อมเพิ่มพูนทักษะด้านการทำงานให้เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับแรงงานชาติอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น