15 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวราย งานจากห้องประชุม 7-01 อาคารกระ ทรวงยุติธรรม ว่า เมื่อเวลา 10.00 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ครั้งที่ 1/2567 ในส่วนของกรมคุมประพฤติ โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ และส่วนราชการต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด ฯลฯ เข้าร่วมประชุมในประเด็น กฎหมายป้องกันการทำผิดซ้ำฯ หรือกฎหมาย JSOC (Justice Safety Observation ad hoc) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกรมคุมประพฤติ ต้องติดตามผู้พ้นโทษจาก 5 ฐานความผิดคดีอุกฉกรรจ์ คือ คดีข่มขืนกระทําชําเรา คดีความผิดทางเพศกับเด็ก คดีฆาตกรรม คดีทำร้ายร่างกาย และคดีเรียกค่าไถ่
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การมีกฎหมายฉบับนี้ เป็นการปกป้องสังคม การที่กฎหมายไทยระบุถึงการกระทำผิดซ้ำถือเป็นความก้าวหน้า แต่ถึงกฎหมายจะดีและมีประโยชน์ แต่ก็ขึ้นอยู่ที่วิธีดำเนินการในการปฏิบัติ และการบริหารจัดการเพื่อทำให้สังคมเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ กฎหมายนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้น ช่วงเปลี่ยนผ่าน คณะกรรมการต่าง ๆ จึงสำคัญอย่างยิ่ง
“ผมจึงอยากวางหลักใหญ่ ๆ ที่เรามองเห็น คือ 1) เราควรมีหลักวิชาการ ต้องให้มีความเห็นทางวิชาการและการศึกษาวิจัยที่มากพอสมควร 2) ให้มีการปฏิบัติการ การดำเนินการ และการบังคับใช้ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีความเคร่งครัด และ 3) ทำอย่างไร ให้กฏหมายนี้มีความสมดุลย์ กับ ผู้เป็นเหยื่ออาชญากรรม และผู้ที่ต้องถูกลงโทษ ทั้งนี้ อยากให้เป้าหมายของการออกกฎหมาย คือ เกิดความเป็นธรรมกับสังคมส่วนใหญ่ หรือคนทั้งหมด“ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่า กฎหมายนี้ออกมา 1 ปี ซึ่งจะออกมาบังคับใช้ไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้มีการออกอนุบัญญัติ จึงจะต้องมีอนุบัญญัติตามมาที่ให้ความเป็นธรรม และเกิดประโยชน์กับสังคม ซึ่งกระทรวงยุติธรรม จำเป็นต้องออกกฎกระทรวง และข้อบังคับในการปฏิบัติต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงยุติธรรมจะต้องออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรการสำคัญ เช่น การบำบัดฟื้นฟู จะเกิดขึ้นตั้งแต่ผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ โดยต้องมีทีมแพทย์ร่วมพิจารณาก่อนปล่อยตัว
เช่นเดียวกับการให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการเฝ้าระวังผู้ต้องหาหลังพ้นโทษ โดยการใส่กำไลอีเอ็ม ซึ่งศาลอาจพิจารณาผลออกมาได้ 3 แนวทาง คือ ไม่เข้าเงื่อนไข , เข้าเงื่อนไข แต่ยังไม่จำเป็นต้องติดกำไลอีเอ็มคุมประพฤติ ให้ผู้พ้นโทษรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ หรือให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติไปติดตามดูพฤติกรรมของผู้พ้นโทษแทน และต้องสวมกำไลอีเอ็มคุมประพฤติ และสั่งคุมประพฤติ
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 จากข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2566 พบว่า มีผู้ถูกเฝ้าระวัง แบ่งตามฐานความผิด ทางชีวิตและร่างกาย 1,450 ราย , ทางเพศ จำนวน 795 ราย และ ทางเสรีภาพ จำนวน 3 ราย พบว่า ผู้ถูกเฝ้าระวังมีอาการทางจิต จำนวน 196 ราย มีประวัติใช้สารหรือยาเสพติด จำนวน 1,284 ราย และพบผู้ถูกเฝ้าระวังที่กระทำผิดซ้ำ จำนวน 1 ราย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น