วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2566

สันติภาพออนไลน์


 อุตรดิตถ์ พื้นที่ปลูกทุเรียนหลง-หลินลับแล 5 หมื่นไร่ ถูกจีนกว้านซื้อรุ่นแรกไปกิโลกรัมละ 200 บาท จ่อคิวเหมาพันธุ์หมอนทอง-หลินลับแล-หลงลับแลซ้ำอีกเร็วนี้ ส่วนคนไทยสามารถชิมหน้าสวนได้ทั้งอำเภอลับแล ล่าสุดราคาหมอน 290  บาท-หลงลับแล 450 บาท/กก. หรือ อดใจรอ ชิม-ช๊อป ในเทศกาลทุเรียนอุตรดิตถ์ ประจำปี 2566  จัด 30 มิ.ย.- 4 ก.ค. นี้ ณ ตลาดกลางเทศบาลตำบลหัวดง


วันนี้ 10 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศศิน ดิศวนนท์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุตรดิตถ์ ต้อนรับคณะสื่อมวลชนพิษณุโลกร่วมกิจกรรม (Fam-Trip) ส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวใน"กิจกรรมมหัศจรรย์หลง-หลิน เปิดประสบการณ์ท้องถิ่น ณ เมืองท่าเหนือ"เมื่อเร็วๆนี้ ภายใต้โครงการ 1 เมืองท่องเที่ยว 1 ประสบการณ์ท้องถิ่น โดยนั่งรถรางชมแหล่งท่องเที่ยว อาทิ พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ซุ้มประตูเมืองลับแล อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวนลับแล และถนนราษฎร์อุทิศ-ถนนคนกิน-ข้าวพันผักอินดี้, หมี่พันลับแล ฯลฯ  ไฮไลท์ของงาน คือ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมสวนทุเรียน”ป้าเรียน” มีทั้งลางสาด ลองกอง และทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแล ที่ปลูกบนภูเขาสูง ถือเป็นของดีอำเภอลับแล ผลไม้ที่ทำรายได้หลักล้านต่อปีสู่จังหวัดอุตรดิตถ์


 โดยกำหนดเทศกาลทุเรียนจังหวัดอุตรดิตถ์ ประจำปี 2566 วันที่ 30 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2566 ณ บริเวณตลาดกลางผลไม้และผลิตภัณฑ์จังหวัดอุตรดิตถ์ (OTOP) เทศบาลตำบลหัวดง อำเภอลับแล มีการจำหน่ายทุเรียนหลง – หลินลับแล อุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกให้มีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

 ทั้งนี้ภูมิประเทศของ จ.อุตรดิตถ์ มีแร่ธาตุดินและอากาศเหมาะสม ทำให้การปลูกทุเรียนให้ผลผลิตดี สายพันธุ์“หลงลับแล”ออกผลกลม-กลมรี มีกลิ่นอ่อน เนื้อแห้ง สีเหลือง ไม่แฉะ รสชาติหวานมัน หอม ส่วน“หลินลับแล” ลักษณะผลทรงกระบอก ยาวกว่า หลงลับแล เนื้อสีเหลืองอ่อน แห้ง ไม่แฉะ รสหวานมัน กลิ่นหอมไม่แรง  ซึ่งจุดเด่นทั้งหลง-หลินลับแล คือ เมล็ดลีบ, เปลือกทุเรียนบาง    

ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกทุเรียน 7 พันราย เพาะปลูกจำนวน  5 หมื่นไร่ เน้น อ.ลับแล จนเขตติดต่อ อ.เมืองอุตรดิตถ์ เนื่องจากเป็นภูเขาสูงและที่ลาดชัน สภาพภูมิประเทศเป็นป่าสลับซับซ้อน ดินลักษณะร่วนปนทราย-สีส้ม จนเรียกว่าแดงผาผุ พอถึงฤดูฝน น้ำไหลบ่าลงจากยอดเขา ก็พาแร่ธาตุอาหารมาใส่ต้นทุเรียน ประกอบกับอากาศเย็นและแดดไม่จัด ผลทำให้การปลูกทุเรียนตามไหล่เขาให้ผลผลิตเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

นส.สุกัญญา มีรัตน์ อายุ 31 ลูกสาว“สวนป้าเรียน”กล่าวว่า ธาตุอาหารในดินเฉพาะถิ่นบนภูเขาลับแล อันเป็นถิ่นกำเนิดของสายพันธุ์ ทำให้ทุเรียนหลงหลิน ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประกวดทุเรียนของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2520 จึงกลายเป็นผลไม้ขึ้นชื่อตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งสวนทุเรียนป้าเรียน ดั้งเดิมบนภูเขานั้นมีประมาณ  10 ไร่และมีสวนในพื้นราบประมาณ 3 ไร่ ปลูกไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้ชิมทุเรียนจากต้น และผลไม้อื่นๆนานาชนิด มีจำหน่ายผลไม้ตามฤดูกาล ราคาปัจจุบันทุเรียนหมอนทอง 290  บาท/กก. ทุเรียนหลงลับแล 450 บาท/กก. นอกจากนี้ยังมีคาเฟ่ซัมเมอร์กรีนในสวน เปิดให้บริการตลอดทั้งปี มีทั้งกาแฟ เครื่องดื่ม, เบเกอรี่หลากผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนพร้อมของฝากที่ระลึกของอุตรดิตถ์อีกด้วย 

นาย มนูญ พรามบุตร วัย 64 ปี ข้าราชบำนาญ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอำเภอลับแล เปิดเผยว่า ตนเกษียณอายุราชการและลงทุนปลูกทุเรียนกับกลุ่มญาติพี่น้องที่อำเภอลับแล กว่าจะได้ผลผลิต ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องบำรุงต้นทุเรียนอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาได้ปลูกต้นทุเรียน และตายไปเยอะ แต่ไม่เคยท้อและสู้ไม่ถอย ณ.วันนี้เริ่มมีผลผลิตแล้ว ปี 66 นี้ ภาพรวมหลายๆสวนที่ลับแล ถือว่า ผลผลิตออกน้อย ผลจากภัยแล้งปีที่ผ่านมา ปริมาณฝนไม่เพียงพอ หลายสวนทุเรียน ต้องขุดบ่อบาดาลช่วย จนผลผลิตจะออกรุ่นแรกพฤษภาคม-มิถุนายน  และอีกรุ่น คือ ต้นเดือนกรกฎาคม และสิงหาคมก็หมดแล้ว  

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า พื้นปลูกทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์หลง-หลินลับแล เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 4 หมื่นไร่เป็น 5 หมื่นไรในปัจจุบัน เกษตรกรจาก 4 พันราย ก็เพิ่มเป็น 7 พันราย ปลูกมากที่อำเภอลับแล อ.ท่าปลาและ อ.เมืองตามเนินเขา เน้นปลูกสายพันธุ์หมอนทอง หลงลับแล หลินลับแล และชะนี  ผลผลิตทุเรียนหลง – หลินลับแลออกมาเมื่อใด ก็เป็นที่ต้องการของคนจีน มีนายทุนจีนกว้านซื้อทุเรียนพันธุ์ไป 1 รุ่นแล้วในช่วงที่ผ่านมา โดยมีล้งหรือจุดรับซื้อขนาดใหญ่หลายแห่ง รับซื้อทุเรียนหลงลับแลไปในราคา 200 บาท ซึ่งก็ถือว่า เป็นราคาดี ที่ชาวสวนลับแลพอใจ เพราะถูกเหมาไปเป็นตันๆ ระหว่างนี้ทุนจีนจะสับเปลี่ยนไปรับซื้อผลผลิตทุเรียนยังภาคตะวันออก และจะหวนกลับมาซื้อที่ ลับแล-อุตรดิตถ์อีกครั้งในรุ่นที่สองเร็วๆนี้ หากนักท่องเที่ยวคนไทยแวะมาเยือนอุตรดิตถ์ จะต้องมุ่งหน้าไปตลาด”ผลไม้หัวดง”อ.ลับแล อยู่หน้าสวนหรือภูเขาที่ปลูกทุเรียนนับหมื่นไร่ สามารถเลือกชิมและซื้อของฝากได้ หรืออาจรอ”เทศกาลทุเรียนจังหวัดอุตรดิตถ์”30 มิ.ย. - 4 ก.ค.นี้ ที่ตลาดหัวดง อ.ลับแล  

/ป๊อกกองปราบ ภาพ-ข่าว/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น