วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566

สวนนงนุชพัทยา ต้อนรับฑูตสวิตเซอร์แลนด์นำปลูกต้นไม้ พร้อมจัดโปรโมชั่นเที่ยวแบบครอบครัวรับปิดเทอม


     วันที่ 29 กันยายน  ที่ สวนนงนุชพัทยา นำโดย นายกัมพล ตันสัจจา  ประธานสวนนงนุชพัทยา ตอนรับนายเปโดร สวาห์เลน (Pedro Zwahlen) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย  เข้าเยี่ยมชมสวนนงนุชพัทยา พร้อมปลูกต้นโมกหลวงดอกแดง ณ บริเวณสวนรุกขชาติเชิงเขาบันไดกฤษ สำหรับ “สวนรุกขชาติ”ทางสวนนงนุชพัทยาดำเนินการให้แก่ประเทศไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก รวบรวมพันธุ์ไม้ยืนต้นทั้งในประเทศและทั่วทุกมุมโลกโดยขออนุญาตเช่าพื้นที่จากกรมป่าไม้จำนวน43ไร่ โดยค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการต่างๆทางสวนนงนุชพัทยาเป็นผู้ดูแลทั้งหมด โดยมีคณะฑูตและหน่วยงานภาครัฐ,บุคคลทั่วไปมาปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง



        และในวันเดียวกันนี้ทางสวนนงนุชพัทยาเอาใจนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุพร้อมต่อโปรโมชั่นผู้สูงอายุเที่ยวชมสวนนงนุชพัทยาลด 50% ทุกวันจันทร์ ถึง วันพฤหัสบดี และวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อต้อนรับปิดเทอมเที่ยวกันแบบยกครอบครัว ตลอดเดือนตุลาคม 2566 ส่วนวันศุกร์ยังคงโปรโมชั่นเดิมผู้สูงอายุเข้าชมสวนฟรี เด็กที่มากับครอบครัวสูงไม่เกิน140 ซ.ม. และผู้พิการพร้อมผู้ติดตามเข้าฟรีทุกวัน

   



         ในส่วนของโปรโมชั่นอื่นๆ สำหรับผู้ที่ต้องการชมการแสดงนงนุชโชว์และช้างแสนรู้ ซื้อเพิ่มเพียงท่านละ200 บาทเท่านั้น รอบการแสดงมีวันละ 4รอบ (10.30 น.,11.30 น.,13.30 น.,15.30 น.) สวนนงนุชพัทยามีสวนสวยให้เที่ยวชมมากว่า 50 สวน บนพื้นที่ 1,700 ไร่ มีบริการนั่งรถชมสวนสวย ชมหุบเขาไดโนเสาร์ที่เด็กทุกคนไม่ควรพลาด พร้อมเปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ 8.00 น.-18.00 น.




รมว.ยุติธรรม ร่วมประชุมคณะกรรมการสภาทนายความฯ ครั้งที่ 9/2566


วันที่ 29 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ ประชุมคณะกรรมการสภาทนายความฯ ครั้งที่ 9/2566 


โดยมีวาระการประชุม เนื้อหาพระราชบัญญัติทนายความ ในการส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับสำนวน รวมถึงการพิจารณาคดีมารยาททนายความที่ถูกส่งสำนวนมา จำนวน 12 เรื่อง ณ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 

กองทัพภาคที่ 3 จัดพิธีรับ-ส่งหน้าที่และมอบการบังคับบัญชาแม่ทัพภาคที่ 3


วันที่ 29 กันยายน 2566 ที่สนามกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 4 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 ได้กระทำพิธีรับ-ส่งหน้าที่และมอบการบังคับบัญชาแม่ทัพภาคที่ 3 ระหว่าง พลโท สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 และ พลตรี ประสาน แสงศิริรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 โดยในพิธีมีการลงนามเอกสารรับ-ส่งหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 3 และได้กระทำพิธีส่งมอบการบังคับบัญชา โดยมีผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพภาคที่ 3 ร่วมพิธี 


ทั้งนี้ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2566  พร้อมกันนี้พลโท สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 ได้กล่าวว่า สำหรับแม่ทัพภาคที่ 3 ท่านใหม่ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่เข้าใจสถานการณ์ และปัญหาในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 อย่างแท้จริง จึงเชื่อมั่นได้ว่าภายใต้การบังคับบัญชาและการบริหารงานของท่านจะสานต่อภาระหน้าที่อันสำคัญนี้ได้อย่างดี ซึ่งจะทำให้กองทัพภาคที่ 3 ได้รับการพัฒนาและมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น 


ขณะที่ พลตรี ประสาน แสงศิริรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ขอยืนยันเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ว่า จะทุ่มเทในการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของกองทัพภาคที่ 3 ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ถูกต้อง ชอบทำ บนพื้นฐานแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ทั้งจะปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความเป็นธรรม ตลอดจนร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างสรรค์ความมั่นคง ความสงบสุข และความรักความสามัคคี ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ  สำหรับพลตรี ประสาน แสงสิริรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นนักเรียน เตรียมทหารรุ่นที่ 24 และเป็นแม่ทัพคนที่ 41 ของกองทัพภาคที่ 3







วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. คว้า 4 รางวัลกินรี การันตีแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ มุ่งสู่คาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน


วันที่ 28 กันยายน 2566 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชทาน 4 รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (รางวัลกินรี) ครั้งที่ 14 สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ แก่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. 


วานนี้ (27 กันยายน 2566) ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชทานรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) หรือรางวัลกินรี ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดขึ้นเพื่อรับรองคุณภาพสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวด้วยมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีนายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รักษาการแทนผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน เป็นผู้แทน กฟผ. เข้ารับพระราชทานรางวัลกินรี จำนวน 4 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลยอดเยี่ยม Thailand Tourism Gold Awards สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ และเกียรติบัตรประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืนจากศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี รางวัลดีเด่น Thailand Tourism Silver Awards จากศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา และเกียรติบัตรประเภทแหล่งท่องเที่ยว สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ จากพิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา เหมืองแม่เมาะ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จ.ลำปาง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทั่วประเทศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ด้านพลังงานของไทยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน


สำหรับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยและพลังงานของโลก ตั้งแต่แสงแรกแห่งสยามสู่นวัตกรรมไฟฟ้าแห่งอนาคตด้วยการเรียนรู้แนวผจญภัยผ่านสื่อที่ทันสมัย ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ออกแบบและก่อสร้างให้เป็นอาคารเขียว (Green Building)  และเอื้อให้ผู้สูงอายุ คนพิการ สามารถเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ได้อย่างสะดวกตามหลัก Universal Design ด้านศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนวียนสุดทันสมัยของภาคอีสาน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับและการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม ท่ามกลางวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของทุ่งกังหันลม และอ่างพักน้ำตอนบนของโรงไฟฟ้าลำตะคอง 


ส่วนพิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา เหมืองแม่เมาะฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติถ่านหินขนาดใหญ่ที่มีความสําคัญในการขับเคลื่อนด้านพลังงานของประเทศ กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตลอดจนมาตราการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแล และพัฒนาชุมชนเพื่อสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://learningcenter.egat.co.th/

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์”ปาฐกถา เร่งอัพสกิลแรงงาน เสริมซอฟต์พาวเวอร์ บูสต์ท่องเที่ยว

วันที่ 28 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายการยกระดับแรงงานภาคท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในงานประชุมสมาชิกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เข้าร่วม นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว และสมาชิกสมาคมการท่องเที่ยว ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องแคทรียา โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดีรังสิต 


นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลกำลังแรงงานของประเทศ ทั้งด้านการพัฒนากำลังแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำ ดูแลสวัสดิการรวมทั้งสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่แรงงาน ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการในการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยมุ่งเน้นการศักยภาพแรงงาน ให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานด้านการท่องเที่ยว โดย Up skill และ Re skill แรงงานให้สามารถทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภาคท่องเที่ยวและบริการ และการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยมุ่งเน้นฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพสูง โดยเติมเต็มทักษะด้านภาษาต่างประเทศ และส่งเสริม นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการหลักสูตรฝึกอบรม เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน การสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว นวดแผนไทย สปา งานบริการอาหารและเครื่องดื่ม นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก การจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพ บูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ด้านการท่องเที่ยวและบริการเพื่อสำรวจความต้องการแรงงานและ การพัฒนาทักษะฝีมือในส่วนที่แรงงานยังขาดแคลนเพื่อพัฒนากำลังแรงงานภาคท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบกิจการปี 2566 กำลังแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จำนวน 288,438 คน เป็นผู้มีงานทำร้อยละ 93.20 ผู้ผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานสามารถรักษาฐานรายได้คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 51,450.19 ล้านบาท/ปี 


"ใน ปี 2566 มีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ผ่าน พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ทำการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ร่วมกับ ผู้ประกอบการ, ภาคธุรกิจ และ ภาคอุตสาหกรรม เป็นจำนวนมากกว่า 280,000 คน โดยในปี 2567 นี้ กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ร่วมกับ ผู้ประกอบการ, ภาคธุรกิจ และ ภาคอุตสาหกรรม เป็นจำนวน 400,000 คน” นายพิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย 

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีความยินดีและพร้อมสนับสนุน อบรม และ พัฒนาฝีมือแรงงาน ตามจำนวนดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างเต็มกำลังโดยสามารถติดต่อสายด่วนกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 1506 กด 4 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ

อบจ.พิษณุโลก จัดกิจกรรม “วันพระราชทานธงชาติไทย” ประจำปี 2566



วันที่ 28 กันยายน 2566 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ร่วมกิจกรรมเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติไทย เนื่องใน “วันพระราชทานธงชาติไทย” (Thai National Flag Day) ประจำปี 2566 ณ บริเวณเสาธง หน้าสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งตรงกันวันที่ 28 กันยายนของทุกปี เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ได้พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน 



ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) รวมทั้งกำหนดให้มีการเชิญธงชาติและประดับธงชาติในวันดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติและเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย และวันที่ 28 กันยายน 2566 นับเป็นวันครบรอบ 106 ปี ของการพระราชทานธงชาติไทย

วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2566

พล.ต.ประสาน แสงศิริรักษ์ ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 3 คนใหม่

พล.ท.ประสาน แสงศิริรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 3  ชื่อเล่น สาน/เข้ นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24  นักเรียนนายร้อย จปร.รุ่นที่ 35

เกิดวันที่ 3 กันยายน 2507 อายุ 59 ปี ภูมิลำเนา : อ.เมือง จ.พิจิตร  

ที่อยู่ปัจจุบัน : 83 ม.1 ต.ป่ามะม่วง อ.เมืองตาก จ.ตาก

ภริยา : คุณ คัทลียา  แสงศิริรักษ์  (เปิ้ล) บุตร : นนอ.จีรภัทร  แสงศิริรักษ์ (นิว) นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 63 กำลังศึกษาอยู่โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช

การศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น   รร.ขอนแก่นวิทยายน ปี 2523

มัธยมศึกษาตอนปลาย  รร.พิจิตรพิทยาคม ปี 2525 ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต โรงเรียนนายร้อย จปร. ปี 2531 ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  ปี 2552

การศึกษาตามแนวทางรับราชการ

หลักสูตร ชั้นนายร้อย รุ่นที่ 84 โรงเรียนทหารราบ ศูนย์การทหารราบ

หลักสูตร ชั้นนายพัน รุ่นที่ 58 โรงเรียนทหารราบ ศูนย์การทหารราบ 

หลักสูตร หลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 75

ประวัติรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ

ปี 2531 บรรจุรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 5 กรมทหารราบที่ 4 


ปี 2559 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 4 ปี 2560 เสนาธิการกองพลทหารราบที่ 4

ปี 2563 รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 

ปี 2564 ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4  

ปี 2565 รองแม่ทัพภาคที่ 3 

ปี 2566 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นแม่ทัพภาคที่ 3

ราชการพิเศษ

ปี 2534 – 2548  ปฏิบัติภารกิจป้องกันชายแดน พื้นที่ จ.ตาก

ปี 2549 – 2550  ปฏิบัติงานรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ จ.ปัตตานี

ปี 2551 – 2552  ปฏิบัติงานรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ จ.ยะลา  

ปี 2553 – 2564  ปฏิบัติภารกิจป้องกันชายแดน พื้นที่ จ.ตาก

ปี 2564 – 2565  ปฏิบัติภารกิจป้องกันชายแดน พื้นที่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน

ปี 2565 – 2566  ปฏิบัติภารกิจป้องกันชายแดน พื้นที่ เขตติดต่อ สหภาพเมียนมาร์ และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ผลงานที่ประทับใจ

1.จัดระเบียบพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยการสู้รบพื้นที่ชายแดน จ.ตาก บ.ห้วยกะโหลก อ.แม่สอด และ         บ.บ้านมอเกอ อ.พบพระ ไปอยู่รวมกัน ณ พื้นที่พักพิงฯ บ.อุ้มเปี้ยม อ.พบพระ ให้ห่างจากชายแดนเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

2. รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยใช้การบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน

นโยบายและเป้าหมายในการปฏิบัติงาน

คติประจำใจ              

“ทำงานด้วยใจ ไปด้วยพลัง ไม่หวังผลตอบแทน”  “เก่งไม่กลัวกลัวขยัน เก่งไม่กลัวกลัวช้า”  “จงทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่าทำในสิ่งที่ถูกใจ”  “นำดี ตามดี   ดีตาม” 

ผลงานที่ได้รับ

1.โล่เกียรติคุณคนดีศรีสองแคว ประจําปี 2566 โดยสมาคมผู้เสียสละพิษณุโลกมอบให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมอุทิศเวลาเสียสละเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าและสร้างชื่อเสียงให้แก่ จังหวัดพิษณุโลก

2.โล่เกียรติคุณยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมประจำปี 2566 โดย มรภ.พิบูลสงคราม ซึ่งมี ผวจ.พิษณุโลก เป็นผู้มอบ

ผลงานเด่น


การจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาในโอกาสวันสำคัญต่างๆ อาทิเช่น พื้นที่ริม 2 ฝั่ง แม่น้ำน่านตั้งแต่หน้าค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจนถึงสะพานสุพรรณกัลยา 2 ฝั่งน้ำ 3 สะพาน พัฒนาเกาะกลางถนนและฟุตบาท 2 ข้างทางถนนหมายเลข 12 ตั้งแต่แยกบ้านกร่างจนถึงแยกอินโดจีน 


การจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาจัดระเบียบสายสื่อสาร สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ลทีวี สายสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนเสาไฟฟ้าที่พันกันยุ่งเหยิงบนเสาไฟ ตามเส้นทางถนนหลักที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจร โดยร่วมมือจากหน่วยงานทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ร่วมกับ กสทช.เขต33 (พิษณุโลก) “รวมพลังจิตอาสาเมืองพิษณุโลก จัดระเบียบสายสื่อสารพัฒนา ภูมิทัศน์เมืองพิษณุโลกให้เป็นเมืองที่น่าอยู่” ตามเส้นทางต่างๆในพื้นที่ จ.พิษณุโลกได้แก่ 

  -สามแยกเรือนเเพ จนถึงบริเวณ 5 แยกโคกมะตูม ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร

  -ห้าแยกโคกมะตูม จนถึง สามแยกโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร

  -สามแยกโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ถึง สถานีอุตุนิยมวิทยาพิษณุโลก ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร

  -หน้า กองบิน 46 ถึง แยกโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ระยะทาง 1.8 กม.  

  -แยกโคกมะตูม ถึง แยกเรือนแพ ระยะทาง 1.82 กม.

  -รื้อถอนสายสื่อสารที่ข้ามถนนทั้งหมดตามเส้นทาง

รวมระยะทางโดยประมาณ 8.2 กิโลเมตร จัดระเบียบเสาไฟฟ้ารวม 348 ต้น 

กองทัพภาคที่ 3 เป็นหน่วยขึ้นตรงและกำลังรบหลักของกองทัพบก รับผิดชอบ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีภารกิจหลักในการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายในและดูแลความสงบตามแนวชายแดน พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาประเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติการทางทหารที่มิใช่สงครามเพื่อความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน การสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย    


การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน การบรรเทาสาธารณภัยเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยต่าง ๆ การจัดกิจกรรมจิตอาสาเพื่อร่วมทำกิจกรรมกับส่วนราชการและประชาชนในการช่วยเหลือดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ และ การดำเนินงานโครงการทหารพันธุ์ดีร่วมกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เพื่อให้ข้าราชการและทหารกองประจำการที่มีความสนใจด้านการเกษตรได้มีโอกาสเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ การปศุสัตว์ และการประมง ให้เป็นแหล่งความมั่นคงทางด้านอาหารแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ฉะนั้นเพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะเคียงข้างประชาชนและสามารถปฏิบัติภารกิจตามที่กองทัพบกมอบหมายได้ จึงต้องมีการวางรากฐานในการพัฒนาหน่วยอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาบุคลากรของหน่วยควบคู่ไปกับการพัฒนายุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน โดยผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความสุขุม รอบคอบ ใจเย็น มีเมตตา มีคุณธรรม และต้องดูแลสวัสดิการความเป็นอยู่ของกำลังพลให้ดีที่สุด          ให้กำลังพลและครอบครัวอยู่ดีกินดี มีขวัญและกำลังใจที่ดี สามารถตอบสนองงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาให้กำลังพลมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดการเจ็บป่วยและการสูญเสีย รวมถึงการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานทั้งการทำงานเป็นบุคคล การทำงานเป็นทีมและการทำงานเป็นหมู่คณะ เน้นย้ำให้กำลังพลกระทำความผิดลดลง ไม่ให้กำลังพลและครอบครัวไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หามาตรการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายให้กับกำลังพลลดหนี้สิน สร้างความสามัคคี ปลูกฝังอุดมการณ์กำลังพลให้ พร้อมรบ ทันสมัย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม     ทำความดีด้วยหัวใจ ดูแลยุทโธปกรณ์และพัฒนานวัตกรรมของหน่วยให้มีความเหมาะสมกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย การปฏิบัติงานต้องทำงานเชิงรุก เชิงลึก รวดเร็ว และ ทันเวลา ทั้งเรื่อง ยาเสพติด สถานการณ์ชายแดน กำลังป้องกันชายแดนต้องมีความเข้มแข็งสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที สภาพความมั่นคงในแต่ละจังหวัด การแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่จะต้องมีการสานสัมพันธ์และบูรณาการในการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน ในค่ายทหารเขตสุขาภิบาลจะต้องสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยและจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งอาคารสำนักงาน บ้านพักกำลังพล ซึ่งการปฏิบัติงานทุกอย่างจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ